สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 เม.ย. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และวันนี้ : ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน กับมีลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 10-11 เม.ย. 68 ความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12–14 เม.ย. 68 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ในขณะที่ลมตะวันออกกำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 60% ของความจุเก็บกัก (48,666 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 42% (24,438 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 10 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่มอก และทับเสลา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล และคลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 82 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 46 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 11 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (8 เม.ย. 68) นายเลิศพันธ์ สุขยิรัญ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำบัญชีน้ำและการจัดสรรน้ำ ครั้งที่ 4 ณ สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำบัญชีน้ำ (Water Accounting) มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำบัญชีน้ำ ซึ่งเริ่มดำเนินการนำร่องจัดทำบัญชีน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก และการพัฒนาการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity Action Plan) อย่างเป็นระบบและยั่งยืน พร้อมทั้งดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการป้องกันการขาดแคลนน้ำ และยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
4. การให้ความช่วยเหลือ : สทนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ ดังนี้
กองทัพบก บูรณาการร่วมกับผู้นำหมู่บ้าน และประชาชน ในพื้นที่ ต.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา จัดกิจกรรมขับเคลื่อนเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย โดยการสร้างฝายชะลอน้ำ (ฝายชั่วคราว) เพื่อชะลอความแรงของน้ำ กักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตร
กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำสมุน ต.ไชยสถาน อ.เมืองน่าน จ.น่าน โดยโครงการฯจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่เพาะปลูกกว่า 3,000 ไร่ และประชาชนในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำและใช้น้ำได้อย่างทั่วถึงตลอดทั้งปี
5. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค : แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร : แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 เม.ย. 68