สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 เม.ย. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงในบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 5 – 7 เม.ย. 68 จะมีแนวพัดสอบของลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง หลังจากนั้น ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง สำหรับภาคใต้ ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 61% ของความจุเก็บกัก (49,231 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 43% (25,019 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 8 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม และแม่มอก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร ภาคตะวันออก : คลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 81 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 11 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. ประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 68 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคี กับ นายสิวะกอน มะลิวัน รองเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขง พร้อมทั้งคณะผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ณ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat : MRCS) สปป.ลาว สำหรับการประชุมทวิภาคีในครั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. ได้เน้นย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานร่วม (Joint Steering Committee) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการฝ่ายไทยผ่านการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำในประเทศ การจัดเตรียมร่างแผนปฏิบัติการร่วม (Draft Action Plan) ระยะ 5 ปี ที่มุ่งเน้นในการจัดทำโครงการร่วมเพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การส่งเสริมแนวทางการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนริมแม่น้ำโขง และการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ พร้อมทั้งประชุมหารือประจำปีและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสองประเทศ ซึ่งจะเป็นกรอบแผนงานและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ได้หารือแนวทางในการขับเคลื่อนการยกระดับความร่วมมือผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมระยะ 5 ปี ซึ่งจะได้รับการพิจารณาและเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานร่วมฯ ไทย – ลาว ครั้งที่ 1 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2568 ณ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำข้ามพรมแดน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำโขงต่อไป
4. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค : แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร : แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 เม.ย. 68