สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 มี.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และวันนี้: ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันออก และลมตะวันตกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 1 – 5 เม.ย. 68 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 62% ของความจุเก็บกัก (49,795 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 44% (25,584ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 8 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม และแม่มอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : คลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 76 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 8 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 10 แห่ง ภาคตะวันตก 8 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. ข่าวประชาสัมพันธ์: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
1) โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวิเศษชัยชาญ ระยะที่ 3 จ.อ่างทอง ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปี (2565-2568) ดำเนินการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมและประตูระบายน้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างความก้าวหน้าโครงการร้อยละ 84 (ล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากอยู่ในขั้นตอนขอแก้ไขแบบ) คณะติดตามได้เสนอแนะให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเตรียมการหารือร่วมกับกรมชลประทานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการประตูระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อโครงการแล้วเสร็จ
2) โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินการโดยกรมชลประทาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็น 2,930 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ มีความก้าวหน้าโครงการร้อยละ 54 คณะติดตามได้เสนอแนะให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการและพิจารณาแนวทางการจัดการปัญหาผักตบชวา ที่เป็นสาเหตุทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลง
4. การให้ความช่วยเหลือ : สทนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ ดังนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษาสำรวจ และพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงน้ำกร่อย ต.อุ่มเม้า อ.ธวัชบุรีจ.ร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยได้ดำเนินการเจาะบ่อผลิต จำนวน 4 บ่อ และบ่อสังเกตการณ์ จำนวน 2 บ่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการสูบทดสอบ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่น้ำบาดาลเสี่ยงน้ำกร่อยได้ จำนวน 9 หมู่บ้าน 1,409 ครัวเรือน ประชากร 4,836 คน
กองทัพบก ดำเนินการแจกจ่ายน้ำประปาส่วนภูมิภาค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ตามโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ณ บ้านคลองแร่ หมู่ 2 ต.หนองพระ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก รวมปริมาณน้ำที่แจกจ่ายทั้งสิ้น จำนวน 12,000 ลิตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 มี.ค. 68