สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 มี.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และวันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันออก และลมตะวันตกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 4 เม.ย. 68 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 62% ของความจุเก็บกัก (49,948 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 44% (25,739 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 7 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : แม่มอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : คลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 72 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 7 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 10 แห่ง ภาคตะวันตก 8 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน Kick Off โครงการบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชนเหนือน้ำหนองกุดทิง ต.โนนสมบูรณ์ จ.บึงกาฬ ด้วยระบบธรรมชาติบำบัดไฟโตเทคโนโลยี เพื่อใช้ในภาคการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ประกาศให้เป็น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก (Ramsar Site) ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.บึงกาฬ โนนสมบูรณ์ และโคกก่อง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และการประมง โดยประสบปัญหาการแพร่กระจายจอกหูหนูยักษ์ ที่เป็นวัชพืชทางน้ำ มีการพัฒนาเปลี่ยนรูปร่างเป็นกลุ่มก้อนเป็นแพ และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วแหล่งน้ำ
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่าการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สทนช. และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการนำแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ Nature-based Solution (NbS) มาประยุกต์ใช้ไฟโตเทคโนโลยีหรือการบำบัดน้ำเสีย โดยอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติของพืชและจุลินทรีย์ในแหล่งน้ำ ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติห้วยน้ำคำ ก่อนไหลสู่หนองกุดทิง เพื่อลดปริมาณแร่ธาตุสารอาหารส่วนเกินในแหล่งน้ำ ที่มีผลต่อการขยายพันธุ์ของจอกหูหนูยักษ์และวัชพืชต่าง ๆ รวมถึงการลดปริมาณโลหะหนักที่อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์น้ำและคืนธรรมชาติให้กลับมามีความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกทางหนึ่ง
4. การให้ความช่วยเหลือ : สทนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ ดังนี้
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการซ่อมแซมบ่อน้ำบาดาลโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ หมู่ 11 ต.บางแก้ว อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนปัญหาขาดแคลนน้ำให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งให้คำแนะนำการใช้งานและวิธีการบำรุงรักษาระบบประปาบาดาลแก่ผู้ดูแลระบบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่รับประโยชน์กว่า 586 คน
กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้สามารถส่งน้ำได้ประสิทธิภาพ ในพื้นที่ ต.ฆะมัง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ พร้อมทั้งดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ในพื้นที่บ้านดอนโด หมู่ 9 ต.แก่งเลิงจาน อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 มี.ค. 68