สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 มี.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และวันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 3 เม.ย. 68 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 62% ของความจุเก็บกัก (50,095 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 45% (25,886 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 7 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : แม่มอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : คลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 70 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 7 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 39 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 10 แห่ง ภาคตะวันตก 7 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน สทนช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความมั่นคงและความเสียหายของเขื่อนทุกแห่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ปัจจุบันยังไม่มีความเสียหายเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว
3. ประกาศแจ้งเตือน: สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำ ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 3 เม.ย. 68 ดังนี้
1. จากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นและอาจไหลเข้าท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ รวมถึงชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงเป็นประจำ
2. เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ริมแม่น้ำ ควรรักษาระดับน้ำในบ่อพักให้สูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มจากแม่น้ำดันไหลซึมเข้าบ่อ
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : สทนช. กำชับหน่วยงานรับมือน้ำเค็มรุก 4 แม่น้ำสายหลักในช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 3 เม.ย. 68 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดย สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จึงขอให้หน่วยงานดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือ ดังนี้
แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อผลักดันน้ำเค็มไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง (กปน.) บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี
แม่น้ำท่าจีน ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ผ่านคลองท่าสาร -บางปลาและคลองจระเข้สามพัน เพื่อผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้ามาถึงปากคลองจินดา เนื่องจากมีสวนกล้วยไม้จำนวนมาก ซึ่งอาจกระทบต่อพืชเศรษฐกิจในพื้นที่
แม่น้ำแม่กลอง เพิ่มปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนแม่กลองในการควบคุมความค่าเค็มให้เหมาะสม แต่ต้องไม่กระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการผลิตน้ำประปา
แม่น้ำบางปะกง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สำคัญของประชาชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และสนับสนุนการผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในโรงพยาบาล รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในขณะเดียวกันจะต้องรักษาน้ำกร่อยไว้เพื่อการประมงริมแม่น้ำสำหรับใช้ในการอนุบาลลูกกุ้ง
การบูรณาการประสานความร่วมมือบริหารจัดการน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำสายหลักทั้ง 4 สาย ซึ่งจะสามารถควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ของทุกภาคส่วน ตามที่ได้วางแผนไว้ตลอดฤดูแล้งจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนปี 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 มี.ค. 68