สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 มี.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และวันนี้ : ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่จะมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 29 มี.ค. – 1 เม.ย. 68 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้แล้ว หลังจากนั้นจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ในวันพรุ่งนี้ (29 มี.ค. 68) ทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 62% ของความจุเก็บกัก (50,255 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 45% (26,047 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 7 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : แม่มอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : คลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 69 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 7 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 39 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 10 แห่ง ภาคตะวันตก 7 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : (วานนี้) 27 มีนาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2568 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตาม 8 มาตรการรองรับภัยแล้ง ปี 2567/2568 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงป้องกันและรับมืออย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในหลายพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำต้นทุนไว้จำนวนมาก แต่ยังคงมีอ่างเก็บน้ำที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง น้ำน้อย เช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งมีปริมาณน้ำเพียง 19% ของความจุ จึงได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำมาตั้งแต่ช่วงต้น ฤดูแล้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยการประปาส่วนภูมิภาคและเทศบาลนครนครราชสีมาจะดำเนินการนำน้ำจากลำน้ำมูลและอ่างเก็บน้ำลำแชะ มาช่วยสนับสนุนการผลิตประปาให้ตัวเมืองนครราชสีมาอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญในการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
ในที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการภายใต้แผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบและแผนยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ทรัพยากรน้ำในสภาวะวิกฤติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ช่วยลดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้ สทนช. เสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาให้ความเห็นต่อผังน้ำลุ่มน้ำปิง โดยมีมติเห็นชอบในหลักการ และเห็นควรให้ สทนช. เสนอผังน้ำลุ่มน้ำปิงต่อ กนช. พิจารณาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา และใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 มี.ค. 68