ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับสูงขึ้นหลัง กนง.ลดดอกเบี้ย

ผลปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งดัชนีอุตฯ ขยับขึ้น หนุนมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วย ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 91.6 ในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งเป็นผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.00% ต่อปี ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงินและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ประกอบกับมีการขยายระยะเวลามาตรการคุณสู้เราช่วย ไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดเข้าร่วมมาตรการอยู่ที่ 746,912 บัญชี (ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 (ช่วงวันที่ 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568) และโครงการ 10,000 บาท เฟส 2 ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวมีการเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม วันที่ 1 มกราคม – 26 กุมภาพันธ์ 2568 มากกว่า 6 ล้านคน ขยายตัว 10.29% (YoY) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมไปถึงการค้าชายแดนขยายตัวได้ดี โดยในเดือนมกราคม 2568 มีมูลค่าการค้าชายแดนรวมกว่า 1.45 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.7% (YoY)


อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีปัจจัยลบจากการส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกจากจีนเข้ามาแข่งขันในประเทศคู่ค้ามากขึ้นประกอบกับรถยนต์ส่งออกบางรุ่นกำลังจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ โดยในเดือนมกราคม 2568 มียอดการส่งออกลดลง 24.63% (YoY) ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน กระทบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชิ้นส่วนและไหล่ยานยนต์ เหล็ก อลูมิเนียม อีกทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรมลดลง กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนการผลิต เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพารา เป็นต้น ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังยืดเยื้อ ยังคงส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนและกระทบกับต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ รวมไปถึงมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กดดันผู้ประกอบการไทยให้เผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,350 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศร้อยละ 39 ราคาน้ำมันร้อยละ 34.3 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 33.8% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 21.9% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 51.9% และเศรษฐกิจในประเทศ 50.1%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.2 ในเดือนมกราคม 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟส 3 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ผ่านโครงการ Thailand Summer Festivals อาทิ กิจกรรม Maha Songkran World Water Festival 2025 และงานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวลในเรื่องสงครามการค้ารอบใหม่ จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นราคาสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในสินค้าเหล็ก และอลูมิเนียมที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 25% ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 และแนวโน้มสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังไม่มีข้อสรุปที่นำไปสู่สันติภาพ อาจกลายเป็นปัจจัยเร่งให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างสู่ระดับโลก

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. ขอให้ภาครัฐเร่งกำหนดยุทธศาสตร์และแผนเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งการเจรจาต่อรองการค้าในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน โดยมีการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมเป็นทีมเจรจาต่อรองการค้ากับสหรัฐฯ
2. ขอสนับสนุนรัฐบาลในการออกมาตรการช่วยค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะเชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในประเทศ รักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการทำมาหากิน
3. ขอให้ภาครัฐส่งเสริมและพัฒนาระบบการยกขนถ่ายตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ในโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation : SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออกสินค้า
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ https://fti.or.th/ids
ส.อ.ท. มุ่ง “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand)”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :