สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 มี.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ วันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ : วันที่ 9 – 13 มี.ค. 68 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางแห่ง ส่วนลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน จะส่งผลให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 66% ของความจุเก็บกัก (53,215 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 50% (29,065 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 5 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : แม่มอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ลำตะคอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : คลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 53 แห่ง ดังนี้ ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคตะวันตก
8 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ
1) วางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด
2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง
3) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือ ผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. สถานการณ์การเพาะปลูกพืช : แผนและผลการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68
ทั้งประเทศ ณ วันที่ 5 มี.ค. 68 แผนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ทั้งในและนอกเขตชลประทาน 15.38 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 13.42 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนการเพาะปลูก โดยมีพื้นที่นาปรังเก็บเกี่ยวแล้ว 1.30 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในกรอบแผนฯ จำแนกได้ดังนี้
แผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 12.73 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 11.94 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนการเพาะปลูก (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกข้าวนาปรัง 7.95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนการเพาะปลูก)
แผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผักทั้งประเทศ 2.65 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.48 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนการเพาะปลูก
ทั้งนี้ สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตาม ประชาสัมพันธ์ และลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ เกี่ยวกับการประหยัดน้ำ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำ และรับฟังปัญหา พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางการแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
4. การดำเนินการตามมาตรการ : กรมชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน
ปี 2568 โดยเตรียมส่งน้ำเข้าพื้นที่ทุ่งบางระกำ เพื่อรองรับการเพาะปลูกตามปฏิทินการเพาะปลูก เริ่ม 1 เมษายน 2568 โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ทั้งนี้ พื้นที่ทุ่งบางระกำมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังรวมทั้งสิ้น 264,805 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตบางส่วน และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2568 กรมชลประทานจะดำเนินการทยอยส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อให้เกษตรกรสามารถเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตามแผนที่กำหนด
ทั้งนี้ ในปี 2568 ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนโดยวางแผนการจัดสรรน้ำจากเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมปริมาณ 390 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ตามแผนการเพาะปลูก และคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวนาปีได้แล้วเสร็จภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2568 หรือก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของผลผลิตจากน้ำท่วม รวมถึงช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนบนและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 มี.ค. 68