สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 ก.พ. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่งในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คาดการณ์ : วันที่ 26 ก.พ. – 1 มี.ค. 68 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีอากาศร้อนตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังอ่อน จะยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองได้บางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 68% ของความจุเก็บกัก (55,003 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 53% (30,980 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 4 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง ภาคตะวันออก : คลองสียัด
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แจ้งเตือน : สทนช. แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล่วงหน้าไปยัง ปภ. และได้มีการประชุมเพิ่มเติมโดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ร่วมกับ สทนช. อต. สสน. และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ แจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 23 – 26 ก.พ. 68 ดังนี้
น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (อ.เมืองฯ บางสะพาน บางสะพานน้อย และทับสะแก) จ.ชุมพร (อ.เมืองฯ สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม และท่าแซะ) จ.สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ ท่าชนะ ไชยา ดอนสัก พุนพิน คีรีรัฐนิคม พระแสง เกาะสมุย เกาะพะงัน และเวียงสระ) จ.นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล หัวไทร ท่าศาลา นบพิตำ พรหมคีรี ชะอวด เชียรใหญ่ ปากพนัง ลานสกา ทุ่งใหญ่ และถ้ำพรรณรา) จ.พัทลุง (อ.เมืองฯ ควนขนุน เขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน ศรีนครินทร์ และกงหรา) จ.สงขลา (อ.เมืองฯ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร รัตภูมิ หาดใหญ่ สะบ้าย้อย และนาหม่อม) จ.ปัตตานี (อ.เมืองฯ ไม้แก่น กะพ้อ ยะรัง สายบุรี ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ และหนองจิก) จ.ยะลา (อ.เมืองฯ กรงปินัง ธารโต บันนังสตา ยะหา และรามัน) และ จ.นราธิวาส (อ.เมืองฯ บาเจาะ ศรีสาคร เจาะไอร้อง ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ จะแนะ สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี และตากใบ)
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมเตือนภัยและประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง
5. สถานการณ์อุทกภัย : เมื่อวาน (23 ก.พ. 68) เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 1 ชม. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ได้แก่ บริเวณซอยเขาน้อย ซอยเขาตาโล ถนนเลียบทางรถไฟ และถนนสุขุมวิท พัทยาใต้ และแยกเพนียดช้าง (แยกมุมอร่อย) ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 20 -70 ซม. ทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ โดยเจ้าหน้าที่กิจการพิเศษเมืองพัทยาได้เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน พร้อมแนะนำให้ใช้เส้นทางอื่นที่มีความปลอดภัย ปัจจุบันระดับน้ำลดลงกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
6. การให้ความช่วยเหลือ : กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชผักตบชวา ด้วยเรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก บริเวณสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ปากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 ก.พ. 68