คลังเดือดจัด ไล่บี้พาณิชย์-เกษตรฯ อุ้มชาวนาด่วน

“พิชัย ขุนคลัง” นั่งไม่ติดหลังราคาข้าวนาปรังลดลง 30% กระทบชาวนาภาคกลางทั้งที่เป็นต้นฤดูเก็บเกี่ยว หวั่นผลผลิตทะลักเดือนมี.ค.-เม.ย.ดึงราคาข้าวทรุดหนักกว่าเดิม
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาและให้ความสำคัญในการดูแลเกษตรกรมาโดยตลอด ดังนั้น ในฐานะที่ตนเองดำรงตำแหน่งประธานกรรม การนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแนวทางดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างรอบคอบและเหมาะสม ทั้งด้านการผลิต และด้านการตลาด
ทั้งนี้ ในส่วนของ นบข.ได้ออกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ไปแล้ว 3 มาตรการ เป้าหมาย 8.5 ล้านตัน เพื่อจัดการอุปทานข้าวและรักษาระดับราคาข้าวเปลือก ประกอบด้วย 1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ2.ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประ กอบการเก็บสต๊อก รวมถึงสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ชาวนาในอัตราไร่ละ 1,000 บาทไม่เกินครัวเรือน 10 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายชาวนา 4.61 ล้านครัวทั่วประเทศ
“สถานการณ์ข้าวล่าสุด ได้รับรายงานจากทั้ง 2 กระทรวงว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลข้าวนาปรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกเจ้า ที่ออกมาแล้วเกือบ 10% และจะออกมากขึ้นในเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ ในพื้นที่ภาคกลางและบางส่วนของภาคเหนือล่าง โดยส่วนใหญ่ ข้าวนาปรังจะมีการส่งออกทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง ซึ่งในปีนี้ราคาข้าวสารขาวในตลาดโลกปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอินเดีย มีการส่งออกข้าวขาวมากขึ้น”
ขณะที่ คู่แข่งอย่างเวียดนาม ก็เสนอขายในราคาต่ำกว่าไทย ส่งผลให้ระดับราคาข้าวเปลือกตกต่ำ จึงได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งผลักดันตลาดต่างประเทศเป้าหมาย เช่น แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ สำหรับการช่วยเหลือชาวนาที่มีประเด็นเกี่ยวกับการจัดการนาข้าวแบบไม่เผา รวมถึง ผลกระทบจากการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่นาข้าว และระบบน้ำชลประทาน ได้สั่งการกระทรวงเกษตรกรฯ ให้เร่งพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมให้เกษตรกรไม่เสียโอกาสและมีวิธีการจัดการนาให้เหมาะสมทั้งด้านต้นทุนและระยะเวลา
สำหรับสถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2567/68 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 6.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 5.45 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนด้านผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วในเดือนก.พ.2568 โดยจะออกกระจุกตัวช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 68 ประมาณ 68% หรือ 4.42 ล้านตัน
สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 17 ก.พ.2568 ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,445 บาท/ตัน ลดลงถึง 30% ทั้งนี้ ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก.ย.2567 เป็นต้นมา ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 8%) ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย13,250 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาท/ตัน ลดลง 0.4% ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก14,400 บาท/ตัน ลดลง 16% และข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,445 บาท/ตัน ลดลง 30%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลังอุ้มรายย่อยของ Non-Banks ผ่าน “คุณสู้ เราช่วย”