“พิชัย” สั่งประชุมด่วน อนุตลาดข้าว เตรียมชง นบข.แก้ปัญหาข้าวนาปรัง

รมว.พณ.พิชัย สั่งการกรมการค้าภายในเตรียมจัดประชุมอนุ นบข.ด้านตลาด 20 ก.พ. 68 ก่อนชง นบข.พิจารณามาตรการช่วยเหลือชาวนาเร่งด่วน คู่ขนานกับเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก ดีเดย์ จ.อยุธยา 16 – 20 ก.พ. และในพื้นที่ 20 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดึงราคาข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 100-200 บาทต่อตัน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ซึ่งตนเองเป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐของกระทรวงเกษตรฯ และ พาณิชย์ รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรัง ที่ได้รับผลกระทบด้านราคาข้าวขาวในตลาดโลก ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน
นายพิชัย ระบุว่า “กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่ในช่วงนี้ได้รับผลกระทบทางด้านราคาด้วยเหตุจากสถานการณ์ที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าว ประกอบกับการที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดการนำเข้าข้าวด้วย ซึ่งทำให้ข้าวไทยได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ โดยผมสั่งการให้กรมการค้าภายในในฐานะฝ่ายเลขาฯคณะอนุกรรมการข้าวด้านการตลาด เร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ซึ่งผมเป็นประธาน เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ นบข. พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปให้พี่น้องเกษตรกรโดยเร็วที่สุด”
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขณะเดียวกัน ผมได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดำเนินการคู่ขนานทันทีในการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.ปี 2568 เรามีแผนที่จะจัดตลาดนัดข้าวเปลือกอีก 14 ครั้ง เพื่อดึงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น ในพื้นที่ เป้าหมาย 8 จังหวัด คือ อ่างทอง สุรินทร์ สิงห์บุรี พิษณุโลก สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี และนครราชสีมา ตั้งเป้าว่าโครงการตลาดนัดข้าวเปลือกจะช่วยดันราคาขายข้าวของเกษตรกรให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ 100-200 บาท/ตัน โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะได้จัดตลาดนัดครั้งที่ 1 ในวันที่ 16-20 ก.พ.68


ซึ่งการจัดตลาดนัดข้าวเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร และสร้างอำนาจต่อรองในการกระจายข้าวเปลือกมากขึ้น โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เร่งดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งข้าวนาปรังทยอยออกสู่ตลาด และจะได้ประสานชาวนาในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนกำหนดจุดจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้ตรงกับปริมาณผลผลิตที่ออก และช่วงเวลา ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า เห็นใจและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก ที่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องราคาข้าวเปลือกเจ้าตกต่ำลดลงจากสถานการณ์ตลาด แต่ก็ไม่สบายใจ ไม่เห็นด้วยที่พี่น้องเกษตรกรจะมาประท้วงโดยการปิดถนนเพื่อกดดันภาครัฐ เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวมซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง โดยสมาคมฯไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องถึงความเดือดร้อน และแนวทางแก้ไขเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ สมาคมฯได้ผลักดันให้มีการเสนอมาตรการผ่านทางคณะกรรมการแล้ว โดยวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ทางสมาคมฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล รมว.กระทรวงพาณิชย์ และ รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีการเร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สำหรับเรื่องปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผา ที่ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการแปลงนาเพิ่มขึ้นไร่ละประมาณ500บาท ก็ได้เสนอให้ภาครัฐได้ช่วยเหลือเช่นกัน ในคราวเดียวกัน ในเบื้องต้นทางกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แจ้งว่าจะมีการประชุมอนุตลาด นบข เพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ รวมถึงจะมีมาตรการให้จัดตลาดนัดข้าวเปลือกในจังหวัดที่มีปัญหา“


สำหรับสถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2567/68 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 6.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่5.45 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนด้านผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วในเดือน ก.พ. 68 โดยจะออกกระจุกตัวช่วง มี.ค. – เม.ย. 68 ประมาณ 68% หรือ 4.42 ล้านตัน สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 14 ก.พ. 68 อยู่ที่ 8,300 – 9,000 บาท/ตัน (เฉลี่ยอยู่ที่ 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงเทียบกับ ปีก่อนที่ 12,500 บ/ตัน หรือลดลง30%) ทั้งนี้ ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 67 เป็นต้นมา เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวตามปกติ รวมทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มนำเข้าลดลงจากการเก็บสต๊อกที่เพียงพอแล้ว ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวขาวจากไทยชะลอตัว จึงได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาในปี 2565 ช่วงก่อนที่อินเดียจะงดการส่งออกข้าว
สำหรับสถานการณ์ราคาปัจจุบัน (14 ก.พ. 68) ของข้าวชนิดอื่นๆ ยังคงทรงตัว แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 8%) ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย13,250 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาท/ตัน (ลดลง 0.4%) ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก14,400 บาท/ตัน (ลดลง 16%) และข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,700 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,500 บาท/ตัน (ลดลง 30%)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ต่อยอดเงินหมื่นเฟสสอง! “พิชัย” ควง “รมช.ธีรรัตน์” ลุยเคหะร่มเกล้า ลาดกระบัง จัด ”ชูใจ วัยเก๋า”