สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ม.ค. 68
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้มีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค
คาดการณ์ : ในวันที่ 14–16 ม.ค. 68 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 76% ของความจุเก็บกัก (61,669 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 65% (37,493 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำเค็มรุกล้ำ ช่วงวันที่ 11 – 21 มกราคม 2568
1. อิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นและอาจไหลเข้าท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)
2. เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร จึงขอให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำเค็มรุกล้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 68 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ประสานความร่วมมือและบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยา จัดประชุมเปิดตัวโครงการศึกษาสำรวจและประเมินศักยภาพ
น้ำบาดาลในพื้นที่รองรับด้วยเกลือหินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับการบริหารจัดการน้ำบาดาล ณ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล มีระยะเวลาดำเนินงาน 24 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการสำรวจธรณีฟิสิกส์ที่เหมาะสมกับการจำแนกขอบเขตน้ำบาดาลจืดพื้นที่โดมเกลือ หรือพื้นที่รองรับด้วยเกลือหิน โดยคัดเลือกพื้นที่ในการศึกษา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
2.ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำก่ำ อ.เมืองฯ จ.สกลนคร 3.ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำมูลและชี อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ซึ่งแบ่งตามลักษณะโดมเกลือ และปัจจัยด้านธรณีวิทยา ปัจจัยทางด้านอุทกธรณีวิทยา และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สำหรับประเมินขอบเขตของโดมเกลือชั้นเกลือหินระดับตื้นและระดับลึก ประเมินพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการเกิดหลุมยุบที่ส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม การศึกษาระบบการไหลของน้ำบาดาล ผลการเปลี่ยนแปลงต่อระบบน้ำบาดาล การแพร่กระจายของน้ำบาดาลเค็ม และปริมาณการใช้น้ำบาดาลที่ปลอดภัย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการน้ำบาดาลและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีปัญหาดินเค็มน้ำเค็มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 ม.ค. 68