สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 ธ.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว คาดว่าจะแผ่ปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีลมแรง ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : ในวันที่ 23-27 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่างมีกำลังปานกลาง ทำให้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในบริเวณภาคใต้ตอนล่าง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 80% ของความจุเก็บกัก (64,050 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 69% (39,835 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้ติดตามการช่วยเหลือเกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยาม ที่ประสบปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสั่งการทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลัง เร่งสูบน้ำออกจากสวนส้มโอทับทิมสยาม เพื่อช่วยเหลือ และป้องกันความเสียหายให้เกษตรกรสวนส้มโอโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันกรมชลประทานระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ปลูกส้มโอได้ ประมาณวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าในช่วง 3-4 วันนี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ระยะนี้ ภาคใต้มีปริมาณฝนน้อย ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ภาพรวมคลี่คลาย แต่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ยังมีน้ำสูงกว่าตลิ่งที่สถานีวัดน้ำ X.275 บ้านบริดอ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 คณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง และคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีมติลดการระบายน้ำจากเขื่อนบางลาง เนื่องจากปริมาณฝนลดลงและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อนริมแม่น้ำปัตตานี ที่ยังมีน้ำท่วมขัง อีกทั้งเป็นการพร่องน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บของเขื่อนบางลางไว้รองรับปริมาณฝนที่จะตกบริเวณภาคใต้ตอนล่างต่อเนื่อง ไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนภาคใต้ ประมาณเดือนก.พ. 2568
สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้11 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 94,206 ราย พื้นที่คาดว่าเสียหาย 203,086 ไร่ ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับช่วยเหลือต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็นข้าวไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล-ไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท โดยการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านพืช เกษตรกรจะยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียว และภายใน 10 วันทำการ หลังได้รับการอนุมัติ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง
5. สถานการณ์อุทกภัย : พื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ณ วันที่ 21 ธ.ค. 67 จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ประชาชนได้รับผลกระทบ 47,355 ครัวเรือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ธ.ค. 67