สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 พ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
พายุโซนร้อน “หม่านหยี่” (MAN-YI) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้เคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีน ในวันนี้ โดยมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับต่อไป โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ช่วงวันที่ 21 – 25 พ.ย. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (66,079 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,877 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 2 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ และลำตะคอง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศ : สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ย. 67 ดังนี้
1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
3.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและได้ผลกระทบกว่า 3 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 30,000 ล้านบาท รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาวางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงแผนการเตรียมรับมือไปจนถึงการเผชิญเหตุ และแผนการฟื้นฟู เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และ
ลดผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในที่ประชุมคณะทำงานฯ มีมติเห็นชอบให้เร่งจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย มีหน้าที่และอำนาจในการศึกษา วิเคราะห์ ถอดบทเรียนจากอุทกภัยและดินโคลนถล่มที่ผ่านมา โดยแผนระยะสั้นจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนในการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ได้สั่งการให้ขุดลอกลำน้ำที่ตื้นเขิน โดยขอความร่วมมือจากกองทัพไทยดำเนินการ พร้อมทั้งมอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน กำหนดแผนแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 พ.ย. 67