ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คึกคัก
ศูนย์ข้อมูลฯ เผยยอดโอนบ้านติดลบน้อยลง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ติดลบแล้ว จากไตรมาสแรกติดลบ 13.4% ไตรมาส3 ปีนี้ ติดลบ 4.5% อานิสงค์มาตราการกระตุ้นของรัฐบาลลดค่าโอน-ค่าจดจำนอง บ้านราคาต่ำกว่า 7 ล้านบาท ดันยอดปล่อยสินเชื่อ ธอส.พุ่ง 10 เดือนทะลุ 180,000 ล้านบาท คาดสิ้นปีนี้แตะ 230,000 ล้านบาท แน่นอน
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ มีแนวโน้มดีขึ้น แม้ยังติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ย ที่ปรับลดลงของคณะกรรมการนโยบายเงิน (กนง.) ประกอบกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ สำหรับอาคารชุดราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงการลดค่าาธรรมเนียมการโอน จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01% ทำให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดมีมากขึ้น
“มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ส่งผลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในไตรมาส 2 และ ไตรมาส 3 ติดลบน้อยลง โดยเห็นได้จากไตรมาส 1 ปีนี้ จำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ติดลบ 13.8% และติดลบ 13.4% แต่ในไตรมาส 2 การโอนกรรมสิทธิ์ ติดลบน้อยลง โดยจำนวนหน่วยและมูลค่าติดลบ 4.5% และติดลบ 5.7% และในไตรมาส 3 การโอนกรรมสิทธิ์ จำนวนหน่วยและมูลค่าติดลบ 4.5% และมูลค่าลดลง 5.4%”
นายกมลภพ กล่าวว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ติดลบน้อยลง ทำให้มีความมั่นใจว่า ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะไม่เห็นภาพติดลบอีกแล้ว เนื่องจากมาตรการอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยจากที่ ธอส.ปล่อยสินเชื่อ ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) สามารถปล่อยสิน เชื่อไปแล้ว 180,000 ล้านบาท และคาดว่า อีก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะปล่อยกู้ได้อีก 55,000 ล้านบาท รวมเป็นยอดการปล่อยสินเชื่อประมาณ 230,000-235,000 ล้านบาท
“ตอนนี้ เรามีลูกค้าอยู่ในมือที่รอโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 10,000 ล้านบาท หมายความว่า ลูกค้าเหล่านี้ ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในเดือนพ.ย.นี้ จะอนุมัติสินเชื่อได้ 25,000 ล้านบาท และเดือนธ.ค.อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท สำหรับโครงการสินเชื่อที่ประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมากได้แก่โครงการ Happy Life, Happy Home, สินเชื่อบ้าน 71 ปี ธอส., สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนพ.ศ.2567 และมาตรการซื้อ ซ่อม สร้าง เป็นต้น ส่งให้ ธอส.มีส่วนแบ่งสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในตลาด หรือมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 40% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก มีมาร์เก็ตแชร์ 29% ไตรมาสสอง 33%”
ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติ ไตรมาส 3 ปีนี้ มี 3,756 หน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.6% และมีมูลค่าการโอน 18,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติ 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 มีจำนวน 11,036 หน่วย (มีสัดส่วน 13.3% ของจำนวนหน่วยโอนห้องชุดทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.1% แต่มีมูลค่าการโอน 51,458 ล้านบาท (มีสัดส่วน 24.2% ของมูลค่าการโอนห้องชุดทั้งหมด) ลดลง 1.5% โดยจีน และ รัสเซีย แม้จะมีสัดส่วนการโอนห้องชุดมากในอันดับต้น ๆ แต่มีจำนวนและมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่พม่า และไต้หวัน มีจำนวนหน่วย และมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ ปี 2567 ทั้งปี มี 350,545 หน่วย ลดลง 4.4% แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัยแนวราบ 243,088 หน่วย ลดลง 6.0% และอาคารชุด 107,456 หน่วย ลดลง 0.6% ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ คาดว่า จะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทจำนวน 1,012,760 ล้านบาท ลดลง 3.3% โดยที่อยู่อาศัยแนวราบ จะมีมูลค่า 717,052 ล้านบาท ลดลง 3.4% ด้านอาคารชุด จะมีมูลค่า 295,707 ล้านบาท ลดลง 2.9%
ขณะที่ในปีหน้า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดว่า จะมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 363,600 หน่วย เพิ่มขึ้น 3.7% ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบ 254,520 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.7% และอาคารชุด 109,080 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.5% ส่วนมูลค่าคาดว่าจะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทจำนวนประมาณ 1,043,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% โดยที่อยู่อาศัยแนวราบ จะมีมูลค่า 739,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% ด้านอาคารชุด จะมีมูลค่า 303,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตลาดบ้านแนวโน้มชะลอตัว