สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 พ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนคาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง และลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (66,117 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,917 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : น้ำพุง จุฬาภรณ์ และลำตะคอง
พร่องน้ำเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝน 1 แห่ง ภาคใต้ : บางลาง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศ เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 16 – 23 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมีระดับเพิ่มสูงขึ้น จึงมีโอกาสเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวใน กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
5. ข่าวประชาสัมพันธ์ : สทนช. พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากประเทศจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมศึกษาดูงานพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. 2567 เพื่อหารือการดำเนินโครงการเสริมสร้างการปรับตัวของชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก
แม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก เป็นแม่น้ำที่กั้นชายแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมืองและบริเวณพื้นที่ทำการเกษตรโดยรอบทั้ง 2 ฝั่งของประเทศ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะประสบปัญหาไม่มีน้ำสำหรับเกษตรกรรม สทนช. ได้ดำเนินโครงการวิจัยร่วมเพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน ด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย – น้ำรวก ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษ
แม่โขง – ล้านช้าง ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ปี 2561 แต่ไม่สามารถดำเนินได้ตามแผนเนื่องจากการแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 สทนช. จึงได้จัดทำข้อเสนอขอรับงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ปี 2568 สำหรับดำเนินโครงการเสริมสร้างการปรับตัวของชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการแจ้งเตือนอุทกภัยล่วงหน้าและระบบการสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยข้ามพรมแดน รวมถึงเสริมสร้างขีดความสามารถให้ชุมชนสามารถตั้งรับปรับตัวกับสถานการณ์อุทกภัยได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 พ.ย. 67