คลังวางแผนต่างชาติใช้โลคอล คอนเทนท์
พิชัย เผยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและไทย เพราะการหาเสียงยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ขณะที่ไทย ต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เปิดกว้างการลงทุนและส่งเสริมให้ใช้ “โลคอล คอนเทนท์” มากขึ้น พร้อมแนะแบงก์ดูแลค่าเงินบาทใกล้ชิด
นายพิชัย ชุณหวิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างประเมินผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ตามเวลาสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ ไม่ว่า ใครชนะการเลือกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าหาก นายดอนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัญหาเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงมากกว่านี้ โดยพิจารณาจากการหาเสียงของนายดอนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงที่ผ่านมา เน้นเรื่อง America First หรือ คนอเมริกันต้องมาก่อน ที่มุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกัน และการสร้างกำแพงภาษีนำเข้าจากต่างประเทศ
“ใครมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีปัญหาทั้งนั้น เพราะการเสียงของทั้งสองคนยึดหลักผลประโยชน์ประเทศ แต่หากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน เมื่อก่อนสหรัฐฯ จะเป็น One man show แต่ตอนนี้ มีขั้วอื่นๆ มาผสม ฉะนั้น เขาก็ต้องปรับแนวนโยบายประเทศของตนเอง เพียงแต่หนักแรงไม่เท่ากัน แต่ทว่าท่ามกลางความหนักแรงนั้นถ้าดูให้ดี ไทยอาจได้ประโยชน์”
โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ ในช่วงที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติ ทยอยเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่า เมื่อนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาแล้ว จะต้องทำสองเรื่อง คือ 1.การผลิตต้องใช้วัตถุดิบหรือสินค้า “โลคอล คอนเทนท์” ในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยจะต้องปรับปรุงต่อไปในอนาคต และ2. เมื่อใช้โลคอลคอนเทนท์ในประเทศไทยมากขึ้น โครงสร้างกิจการหรือผู้ถือหุ้น ก็ควรเป็นของคนไทยด้วย
“ผลการเลือกตั้งไม่ว่า จะออกมาอย่างไร ประเทศไทยก็ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ ทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ บวกกับมาตรการของขวัญปีใหม่ ส่วนระยะกลางและยาว จะเน้นที่เรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่ การรองรับการลงทุนใหม่จากภาคเอกน มาตการที่ทำให้ต้นทุนภาคเอกชนลดลง และมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เป็นต้น”
ส่วนเรื่องค่าเงินบาทผันผวนนั้น ไม่ว่า เงินบาทอ่อน หรือแข็งค่า มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ 1.หากเงินบาทอ่อนค่าต้องไม่น้อยกว่าคู่แข่ง และ 2.ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแข็งค่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถดูแลสภาพคล่องและทุนสำรองได้อย่างเพียงพอ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ คิดว่า ไม่มีน่าปัญหา เพราะสามาถควบคุมและดูแลได้
แต่สิ่งที่ อยากเห็นคือ ความสามารรถในการส่งออกมากกว่า โดยพิจรณาจากปัจจุบันว่า เงินบาท ณ ขณะนี้ เป็นอย่างไร ถ้ามองสั้นๆ เงินบาทอาจแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน แต่อยากมองระยะยาว ไม่ได้มองแค่ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือมองย้อนหลังไปหลายปี และไปข้างหน้า เราไม่เสียเปรียบใช่ไหมคือ ประเด็นสำคัญที่สุด
“ผมคิดว่า อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น หลายประเทศที่เคยใช้เรื่องเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ก็ต้องหันมาดูอัตราแลกเปลี่ยน โดยดูอย่างเปิดเผยหรือไม่เปิดเผย แต่แน่นอนเราคงไม่เข้าไปแทรกแซงทำงานของ ธปท. แต่ทุกประเทศก็ดูแลตัวเองทั้งนั้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลังกล่อมแบงก์เอกชนพักหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท