สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 พ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในระยะแรกหลัง จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยมีอากาศเย็นกับมีลมแรง สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (65,930 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,733 ล้าน ลบ.ม.)
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ.ฉบับที่ 18/2567 ลงวันที่ 1 พ.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงวันที่ 2-6 พ.ย. 67 สทนช. ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุงนครศรีธรรมราช และสงขลา ทั้งนี้ควรเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80..บริเวณ จ.ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณด้านท้ายน้ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ และแม่น้ำตรัง
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 67 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ครั้งที่ 2/2567 โดยจากการติดตามข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคใต้ตอนบนในช่วงเดือน ต.ค. – พ.ย. 67 และพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 67 ประกอบกับอาจเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำหรือพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านเข้ามา จะส่งผลให้มีฝนตกในบริเวณพื้นที่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ในช่วงวันที่ 1 – 3 พ.ย. 67 ก่อนจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและจะเริ่มมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 4 พ.ย. 67 ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และสงขลาบางส่วน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม และการเตรียมการช่วยเหลือประชาชนในการอพยพ โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำเตรียมความพร้อมของสถานีเตือนภัยน้ำท่วม – ดินถล่ม (Early Warning System) รวมทั้งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในจุดเสี่ยงอุทกภัยและเส้นทางคมนาคมสายหลัก โดยเน้นย้ำให้กรมประชาสัมพันธ์ติดตามข้อมูลสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทันเวลาและครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อการเตรียมความพร้อมตั้งรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 67