คลังลุ้นจีดีพีปีหน้าโตแตะ 3%
กระทรวงการคลัง ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ปีนี้ ขยายตัว 2.7% ปีหน้าบวก 3% มั่นใจแบงก์ชาติ ทำงานกันใกล้ชิดดันจีดีพีเป็นบวกเศรฐกิจพ้นปากเหว เงินเฟ้อใกล้แตะ 2%
นายพรชัย ฐีรเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ในปีนี้ สศค.ประเมินว่า ขยายตัว 2.7% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-3.2% คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อน แต่ดีกว่าปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.9% และคาดว่า ปีหน้า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3% เนื่องจาก 4 ปัจจัยหลักของเศรษฐกิจไทย มีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบด้วย
1.การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.6% ปีหน้า บวก 2.9% 2.การส่งออกของไทย ในปีนี้ ถือว่า ดีอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ บวก 2.9% และปีหน้าคาดว่า จะบวกเพิ่มขึ้นอีก 3.1% 3.การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยตลอดปีนี้ คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยประมาณ 36 ล้านคน และปีหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านบาท ซึ่งอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากเกิดการแพร่ระดับของโควิด19 โดยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปประมาณ 43 ล้านคน และ 4.การลงทุนของภาคเอกชน ในปีนี้ แม้จะยังคงติดลบอยู่ที่ 1.9% แต่ในปีหน้า คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.3%
ส่วนสาเหตุที่ สศค.มองว่า แนวโน้มเศรษกิจไทยปีนี้ ดีกว่าปีก่อน และในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การลงทุนภาคเอกชน ที่ดีขึ้น เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 2.การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนาม บิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน
นอกจากนี้ สศค.ยังสนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมุมทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกับกระทรวงการคลัง เนื่องจากนโยบายด้านการคลัง ขณะนี้ ดำเนินการไปค่อนข้างมากแล้ว โดยหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ล่าสุดอยู่ที่ 65-66% ใกล้เต็มเพดาน 70% และงบประมาณปี2568 ก็ขาดดุล 4.5% หรือ 865,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยจะขยับอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น และจีดีพี เพิ่มขึ้นได้
สำหรับ ประเด็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิเช่น 1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว รวมถึงการขยายบทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ BRICS และการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศ CRINK (จีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ) ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐอเมริกาในเรื่องระเบียบโลกใหม่
2. ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ 3. การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย 4. ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป และ 5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลังจุดพลุขอเงินเฟ้อ 2% ดันจีดีพีพุ่ง