สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ต.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.อุทัยธานี (106 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.บุรีรัมย์ (57 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (59 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (60 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ราชบุรี (86 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (54 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านอ่าวไทยตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 23 – 26 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 80% ของความจุเก็บกัก (64,671 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 70% (40,475 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2567 ลงวันที่ 17 ต.ค. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 19-23 ต.ค. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
2. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ดังนี้จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สตูล นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และกระบี่
4. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำตรัง แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (20 ต.ค.67).นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามอุทกภัยในพื้นที่ จ.อุทัยธานี เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ส่งผลให้เกิดให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมย่านการค้าเทศบาลตำบลบ้านไร่ อ.บ้านไร่ และพื้นที่น้ำท่วมขยายออกไปอย่างรวดเร็ว จนเกือบเต็มพื้นที่เทศบาล เบื้องต้นความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้วรองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าวเกิดขึ้นเหนือเขื่อนกระเสียว ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อน 157 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 53) ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกมาก โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่น้ำท่วมเดิมริมแม่น้ำท่าจีน ทั้งในเขต จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม นอกจากนี้ยังช่วยเติมปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างฯ กระเสียว คาดว่าสิ้นฤดูฝนนี้จะมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. (ประมาณร้อยละ 80) ทำให้สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตรได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน สทนช. ได้ประสานกับกรมชลประทานปรับลดการรับน้ำเข้าพื้นที่ และหยุดการรับน้ำผ่านคลองจระเข้สามพัน และคลองท่าสารบางปลา เพื่อให้ระบบชลประทานในพื้นที่สามารถรองรับน้ำฝนที่จะตกเพิ่มลงมาได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 21 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ) จ.สุพรรณบุรี (อ.บางปลาม้า อู่ทอง และสองพี่น้อง) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ และบางไทร) และ จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี และบางเลน) จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ได้แก่.จ.อุทัยธานี (อ.บ้านไร่)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ต.ค. 67