สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ต.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.สุโขทัย (117 มม.) ภาคกลาง : จ.พระนครศรีอยุธยา (131 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา (45 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (69 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (44 มม.) และ ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (122 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคมีอากาศเย็นในตอนเช้าและอุณหภูมิลดลงอีกเล็กน้อย โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตกและภาคกลางตอนบนและร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้ด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ :. ช่วงวันที่ 8 – 10 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น ประกอบกับร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 76% ของความจุเก็บกัก (61,149 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 64% (36,962 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในพื้นที่แม่น้ำปิง และแม่น้ำสายเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำปิง ช่วงวันที่ 3 – 6 ต.ค. 67 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มล้นตลิ่ง คาดว่าที่สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะมีระดับน้ำสูงสุดสูงกว่าระดับตลิ่งชั่วคราว 1.60 ม. ในวันที่ 6 ต.ค. 67 เฝ้าระวังพื้นที่ริมลำน้ำ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ บริเวณ อ.เมืองฯ สารภี หางดง สันป่าตอง และดอยหล่อ จ.ลำพูน บริเวณ อ.เมืองฯ ป่าซาง และเวียงหนองล่อง
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมแผนการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ดังนี้
1. กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยาและผันน้ำเข้าฝั่งซ้าย-ขวาของเขื่อนเจ้าพระยาให้เหมาะสม พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลการปล่อยน้ำแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน เพื่อขนย้ายสิ่งของและเตรียมอพยพได้ทัน
2. กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ
3. กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานีเร่งพร่องน้ำในคลองสาขา เตรียมรับน้ำหากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
4. กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำและประตูระบายน้ำให้พร้อมใช้งาน รวมถึงเร่งกำจัดขยะและผักตบชวาในพื้นที่ เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 5 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ) จ.เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ แม่แตง แม่ริม สารภี หางดง สันป่าตอง และดอยหล่อ) จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย เวียงป่าเป้า เวียงชัย และแม่ลาว) จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ แม่ทา และป่าซาง) จ.ลำปาง (อ.แจ้ห่ม แม่พริก และงาว) จ.พะเยา (อ.แม่ใจ) จ.ตาก (อ.สามเงา บ้านตาก อุ้มผาง พบพระ และแม่สอด) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม วังทอง และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง และสวรรคโลก) จ.เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ น้ำหนาว และหนองไผ่) จ.เลย (อ.ภูกระดึง วังสะพุง และภูเรือ) จ.อุดรธานี (อ.เมืองฯ และสร้างคอม) จ.ชัยภูมิ (อ.คอนสวรรค์ และจัตุรัส) จ.ขอนแก่น (อ.ภูผาม่าน) จ.กาฬสินธุ์ (อ.ยางตลาด และหนองกุงศรี) จ.มหาสารคาม (อ.เมืองฯ กันทรวิชัย โกสุมพิสัย และเชียงยืน) จ.อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ และสว่างวีระวงศ์) จ.อ่างทอง (อ.เมืองฯ วิเศษชัยชาญ และไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา และบางไทร) และ จ.นครศรีธรรมราช (อ.ทุ่งสง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 ก.ย. 67