สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 ก.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.ลำปาง (162 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย (57 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (58 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (137 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (22 มม.) ภาคใต้ : จ.ยะลา (118 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย. 67 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เนื่องจากมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน สำหรับพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าช่วงวันที่ 20 – 21 ก.ย.67 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 67% ของความจุเก็บกัก (54,030 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 51% (29,846 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ :
1. ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 15/2567 ลงวันที่ 16 ก.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 17 – 22 ก.ย. 67 ดังนี้
สถานการณ์แม่น้ำโขง เนื่องจากขณะนี้มวลน้ำหลากในแม่น้ำโขงได้ไหลผ่าน จ.เลย หนองคาย และบึงกาฬ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 67 โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.หนองคายสูงสุด 21,187 ลบ.ม./วินาที สูงกว่าตลิ่ง 1.62 ม. และจะเคลื่อนตัวผ่าน จ.บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 – 1.0 ม. ในช่วงวันที่ 18 – 21 ก.ย. 2567สถานการณ์น้ำห้วยหลวง บริเวณสถานีบ้านโนนตูม (Kh.103) อ.เมือง จ.อุดรธานี เนื่องจากแม่น้ำโขงมีระดับน้ำสูงกว่าลำน้ำสาขา จึงไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวก ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำล้นตลิ่งต่ำและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ได้แก่ อ.กุดจับ เมืองฯ และสร้างคอม จ.อุดรธานี อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
2. ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 16/2567 ลงวันที่ 17 ก.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 19 – 25 ก.ย. 67 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80%
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำยม แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย ห้วยหลวง แม่น้ำสงคราม แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด
4. การให้ความช่วยเหลือ : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับหน่วยงานทหาร ตำรวจ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครมูลนิธิ เข้าทำความสะอาดพื้นที่ถนน อาคารบ้านเรือนในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย สำหรับสถานการณ์อุทกภัย จ.หนองคาย ซึ่งเกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ อพยพประชาชน และสนับสนุนถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้น
5. สถานการณ์น้ำท่วม : วันที่ 17 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.แม่สาย และเมืองฯ) จ.พะเยา (อ.เมืองฯ) จ.ลำปาง (อ.วังเหนือ แจ้ห่ม แม่เมาะ และงาว) จ.สุโขทัย (อ.กงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ) จ. บึงกาฬ (โซ่พิสัย บึงโขงหลง เซกา พรเจริญ ปากคาด เมืองฯ บุ่งคล้า และศรีวิไล) จ.หนองคาย (สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองฯ และรัตนวาปี) จ.อุดรธานี (อ.นายูง น้ำโสม หนองหาน เมืองฯ และโคนสะอาด) จ.อ่างทอง (วิเศษชัยชาญ) จ.พระนครศรีอยุธยา (บางบาล บางประหัน ผักไห่ เสนา พระนครศรีอยุธยา บางไทร และบางประอิน) จ.ปราจีนบุรี (กบินทร์บุรี ประจันตคาม และศรีมหาโพธิ์) จ.ชุมพร (พะโต๊ะ) จ.พังงา (คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง และเมืองฯ) จ.ภูเก็ต (เมืองฯ และถลาง) และ จ.สตูล (ควนโดน เมืองฯ ท่าแพ และมะนัง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 ก.ย.67