สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ส.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (170 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุดรธานี (45 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (60 มม.) ภาคตะวันออก : จ.นครนายก (55 มม.) ภาคตะวันตก : จ.เพชรบุรี (66 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (66 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 17 –.21 ส.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศลาว เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 58% ของความจุเก็บกัก (46,521 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 39% (22,361 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 16 – 22 ส.ค. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย หนองบัวลำภูบึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม
ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี และตราด
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ ลำน้ำงาว ลำน้ำปาย แม่น้ำลาว แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก ลำน้ำก่ำ และแม่น้ำตราด
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามชี้แจงแนวทางและปฏิทินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อรับทราบแนวทางและปฏิทินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และเป้าหมายสำคัญที่เร่งขับเคลื่อนในปี 2569 รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อให้การเสนอแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณการบริหารทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ มีประสิทธิภาพและถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดสอดคล้องตามนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีมติในคราวการประชุม กนช. ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 เห็นชอบแนวทางและปฏิทินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ให้หน่วยงานของรัฐ ทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งแนบเอกสารความพร้อม ผ่านระบบ Thai Water Plan ให้เรียบร้อยภายในวันที่ 30 ก.ย. 67 จากนั้นให้ Sign off 1 ภายในวันที่ 4 ต.ค. 67 และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด Sign off 2 ภายในวันที่ 31 ต.ค. 67 โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ และ กนช. จะดำเนินการใน พ.ย. และ ธ.ค. 67 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2569 ต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 15 ส.ค. 67 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.แม่สาย เมืองฯ แม่จัน แม่ฟ้าหลวง และเชียงของ) จ.พะเยา (อ.ดอกคำใต้) และ จ.แม่ฮ่องสอน (อ.ขุนยวม และเมืองฯ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 15 ส.ค. 67