สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 ส.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.ลำปาง (67 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา (31 มม.) ภาคกลาง : จ.ชัยนาท (5 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (49 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ราชบุรี (31 มม.) ภาคใต้ : จ.นราธิวาส (90 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองลดลง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 10 – 14 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (45,998 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 38% (21,839 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สทนช. ประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง ในช่วงวันที่ 6 – 10 ส.ค. 67 จึงขอให้เฝ้าระวังเตรียมความพร้อมรับมือส่งผลกระทบให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น และเศษซากไม้ลอยน้ำ ดังนี้
บริเวณสถานีหนองคาย จ.หนองคาย และ สถานีบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 6 -7 ส.ค. 67 ประมาณ 1.0 ม. ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 1.5 ม.
บริเวณสถานีนครพนม จ.นครพนม และสถานีมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 7 – 9 ส.ค. 67 ประมาณ 1.0 – 2.0 ม. ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 2.0 – 3.3 ม.
บริเวณสถานีอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ และ สถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 7 – 10 ส.ค. 67 ประมาณ 1.5 – 2.0 ม. ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 3.3 ม.
4. แนวทางบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (8 ส.ค. 67) นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต และเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและแผนงานโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายจักรพงษ์ แสงมณี ได้มอบนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานด้านน้ำมุ่งเน้นการทำงานเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงรุก ในการลดหรือบรรเทาเหตุการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพน้ำ เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้ ชป. บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้ กปภ. เร่งรัดโครงการก่อสร้างปรับปรุง ขยายกำลังผลิตประปาของ กปภ. สาขาพังงา – ภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายในการก่อสร้างระบบผลิตน้ำขนาด 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอุปโภค –บริโภคให้กับประชาชนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภคนับเป็นปัญหาหลักด้านน้ำในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปายังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ประกอบกับโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำประปาที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่และมีระบบส่งน้ำประปาชำรุด จึงได้มีการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวม 461 โครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ลดพื้นที่น้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียได้มากขึ้น ทั้งนี้ สทนช. ยังได้จัดทำแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อเร่งรัดโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 142 โครงการ
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 8 ส.ค. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เวียงชัย และเทิง) จ.พะเยา (อ.เชียงคำ) จ.ลำพูน (อ.แม่ทา) จ.เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก) จ.ปราจีนบุรี (อ.บ้านสร้าง) และจ.สุราษฎร์ธานี (อ.บ้านตาขุน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 ส.ค. 67