สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ก.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (97 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ชัยภูมิ (88 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (26 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (143 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (46 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (70 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
คาดการณ์ : 22 – 26 ก.ค. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 50% ของความจุเก็บกัก (40,493 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 28% (16,329 ล้าน ลบ.ม.)
3. การบริหารจัดการน้ำ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ทำนบดินชั่วคราวขาดบริเวณงานก่อสร้างปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ จ.มหาสารคาม ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากอย่างรวดเร็วไปยังพื้นที่ด้านท้ายน้ำ มีน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.โนนราษี ต.กำพี้ ต.ดอนงัว ต.บัวมาศ ใน อ.บรบือ และ ต.หนองม่วง และมวลน้ำดังกล่าวไหลลงลำน้ำเสียวใหญ่และหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 6 ตำบลใน อ.วาปีปทุม ได้แก่ ต.หนองแสง ต.โพธิ์ชัย ต.บ้านขวาย ต.นาข่า ต.แคน และ ต.หัวเรือ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ สทนช. ประสานหน่วยงานในพื้นที่เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้หน่วยงานตรวจสอบความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมาก จะต้องมีการพร่องน้ำก่อน เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากที่จะเข้ามาอีกครั้ง ในช่วงที่ลมมรสุมจะมีกำลังแรงอีกระลอกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับสภาวะลานีญาจะเริ่มส่งผลชัดเจนยิ่งขึ้นอีกในเดือนสิงหาคม ซึ่ง สทนช. จะได้ใช้ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ร่วมกับการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ประสบภัย และกลไกการบริหารจัดการน้ำแบบทั้งระบบลุ่มน้ำ ในสภาพที่น้ำฝน น้ำท่ามีปริมาณมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติ จะช่วยให้การระบายน้ำและหน่วงน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำและลำน้ำมีความสมดุล
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้อาศัยสองฝั่งลำน้ำจนถึงท้ายน้ำรวมถึงพื้นที่ทำการเกษตรน้อยที่สุด อีกทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำส่วนเกินไว้เป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งถัดไปได้ด้วย โดยศักยภาพในการกักเก็บน้ำภายในประเทศขณะนี้ยังสามารถเก็บน้ำได้อีกมากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
4. สถานการณ์อุทกภัย:
สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 20 ก.ค…67 ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน (อ.เมืองฯ) จ.พิษณุโลก (อ.เนินมะปราง) จ.เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก) จ.ขอนแก่น (อ.มัญจาคีรี บ้านไผ่ บ้านแฮด สีชมพู ชุมแพ เมืองฯ และบ้านภูผาม่าน) จ.ร้อยเอ็ด (อ.ปทุมรัตต์ และ เกษตรวิสัย) จ.สกลนคร (อ.เมืองฯ) จ.มหาสารคาม (อ.บรบือ และวาปีปทุม) จ.อุบลราชธานี (อ.เดชอุดม) จ.ตราด (อ.เขาสมิง และเมืองฯ) และ จ.เพชรบุรี (อ.หนองหญ้าปล้อง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ก.ค. 67