ครม.ขยายเวลาลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนา SFIF
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 4 แห่ง
ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) โดยปรับลดอัตราเงินนำส่งเหลือ 0.125% ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนออกไปอีก 1 ปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 – 31 ธ.ค.67 และกลับมาใช้อัตรา 0.25% ต่อปี สำหรับรอบการนำส่งเงินตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง เสนอว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันเริ่มคลี่คลายลง และสภาวะเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ยังคงส่งผลต่อกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่ยังอยู่ระหว่างฟื้นตัว และอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จึงเป็นกลไกสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจ และยังคงต้องให้ความช่วย เหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ รมว.คลัง มีข้อสั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง จัดทำข้อเสนอโครงการหรือมาตรการใหม่ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้รับการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะสามารถส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งดังกล่าว เพื่อไปช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งไปช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงลูกหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง ได้จัดทำรายละเอียดโครงการหรือมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยสามารถส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งดังกล่าวเพื่อไปช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และลูกหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย
1.การลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราผ่อนปรนพิเศษให้แก่ลูกหนี้เป็นการทั่วไป เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) เป็นต้น
2.การลดอัตราดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยค้างรับตามสัญญา
3.การเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ ที่ทำให้เงินต้นของลูกหนี้ปรับลดลงในทุกงวดที่ผ่านชำระ ซึ่งคาดว่าจะได้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ประมาณ 5 ล้านบัญชี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ครม.เห็นชอบร่าง พรบ.งบฯ 67 เพิ่มเติม กู้อีก 1.1 แสนล้าน