สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 ก.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 12–16 ก.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังแรงจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 49% ของความจุเก็บกัก (39,591 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 27% (15,450 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ : ภูมิพลและสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคตะวันตก: ปราณบุรี
3. คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (10 ก.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายก รัฐมนตรี และประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 พร้อมด้วย นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยช่วงเช้าลงพื้นที่ตรวจสอบแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วัดไชยวัฒนาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นเข้าร่วมการเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุ ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และในช่วงบ่าย เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า
และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ณ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นและอาจเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจ รัฐบาลได้มีการกำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยเน้นการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักร และการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
5. ประกาศแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ : สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 9 – 17 ก.ค. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง ได้แก่ ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และอุบลราชธานีภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส
6.สถานการณ์อุทกภัย : เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 67 เกิดสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ 1 จังหวัด ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี (ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี) ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ก.ค. 67