CIMB มองเศรษฐกิจไทยโตแค่นี้ ก็ดีแล้ว

• ดิจิทัล วอลเล็ต แค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
• แนะรัฐปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก่อนหายนะ
• ความเหลื่อมคนรวย-คนจนห่างไกลมากขึ้น
เศรษฐกิจไทยในอนาคตข้างหน้า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแล้ว อัตราการเติบโตจะขยายเพียง 3%ถือว่า ต่ำมาก แต่ก็เหมาะสมตามศักยภาพของเราแล้ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ไทยสูญเสียการแข่งขัน คนแก่มีมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย-คนจน ดันหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ส่งผลถึงรายได้ของคนฐานล่าง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หรือ CIMB ระบุว่า ปีนี้ เราคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.3% และคาดว่า ปีหน้าจะขยายตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ 3.2% ซึ่งการขยายตัวในระดับนี้ ได้นับรวมมาตาการใหญ่ ดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
“ถ้าหาก ดิจิทัล วอลเล็ตออกมาจริงในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จีดีพีก็อาจจะขยับขึ้นมาสูงสุดที่ 2.5% และยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงต้นปีด้วย จึงทำให้ เราปรับจีดีพีปีหน้า ดีกว่าปีนี้”
นายอมรเทพ กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย มีปัญหาหลายๆ ด้าน พร้อมกัน เช่น สังคมสูงวัย ผลกระ ทบจากโควิด 19 ทำให้คนมีรายได้ลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการผ่อนบ้านและผ่อนรถ ทำให้เป็นเอ็นพีแอล ท้ายที่สุด หนี้ครัวเรือน ขยับขึ้นสูงสุดที่ 90% ของจีดีพี
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมมองว่า เป็นเรื่องดีนะครับ… ผมขอแนะนำรัฐบาลควรที่จะปรับโครงสร้างต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ได้ยกระดับหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ
สำหรับ ปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น มาจากจำนวนนักท่องเที่ยว ที่คาดว่า จะเดินเข้าไทย 35.6 ล้านคนในปีนี้ และปีหน้า 39.1 ล้านคน โดยสามารถช่วยเรื่องการกระตุ้นภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และค้าปลีก เป็นต้น แต่ไม่ได้สามารถกระตุ้นบริโภคภายในประเทศได้มากเท่าที่ควร แม้ครึ่งปีหลังนี้ จะดีกว่าครึ่งปีแรกก็ตาม
“ผมมองว่า ดิจิทัล วอลเล็ต ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่งขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.2% เนื่องจากแรงกดเศรษฐกิจให้ต่ำลดลงนั้น มาจากความสามารถในการหารายได้ของคนไทย เห็นได้จาก แบงก์ปฏิเสธปล่อยสินเชื่อบ้าน และรถยนต์ถูกยึดมากขึ้น ขณะที่แบงก์ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง”

นายอมรเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังป่วย พิจารณาได้จากจีดีพีไทย โตต่ำสุดในอาเซียน และมีความเสี่ยงจาก G-E-R-M ประกอบด้วย
G-Geo-politics จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่ง ขณะที่ความขัดแย้งในยูเครน ที่อาจยืดเยื้อและรุนแรง จนกระทบอุปทานน้ำมันของรัสเซีย เป็นต้น
E-Elections การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง โดยเฉพาะที่น่าติดตาม คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 5 พ.ย. นี้ จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้า การลงทุน และกระแสโลกาภิวัฒน์ตีกลับ ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้
R-Interest Rate อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน แม้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. จากระดับ 5.5% สู่ 5% ในปลายปีนี้ จากตัวเลขการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มแผ่วลง แต่หากเฟดยังกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลงช้า และห่วงว่าหากปรับลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นต่อได้ ทำให้เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้น
M-Manufacturing ภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง ความอ่อนแอของภาคการผลิต มีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา ทั้งขาดสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขาดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือเติบโตรั้งท้ายในภูมิภาค หรือไทยนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน และสงครามที่เกิดขึ้นหลายจุดในโลกขณะนี้
ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.นั้น มองว่า กนง.จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลง หลังจากเฟด ลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว โดยคาดว่า ปีนี้ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 2.50% มาอยู่ที่ 2.25% ขณะที่ ณ สิ้นปี2568 คาดว่า อัตราดอกเบี้ยของไทย มีโอกาสจะลงไปอยู่ที่ 1.5% ถือว่า ลดลงมาก เพราะ กนง.เดินตามเฟด ที่คาดว่า จะลดลงเร็วมากในปีหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงเร็วมาก
นอกจากนี้ ผมขอแสดงความกังวล ส่วนตัว เรื่องของหุ้นกู้ที่ครบกำหนด โดยแนะนำนักลงทุนให้หาหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ มีความอันดับความน่าถือดีๆ และพิจารณาบริษัทที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้
ส่วนตลาดหุ้นบ้านเรา ที่กำลังมีกองทุนวายุภักษ์ และ THAI ESG น่าจะส่งผลดีระยะสั้นๆ แต่ระยะยาวแล้ว การลงทุนขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ความเชื่อมั่นและการสร้างความศรัทธราหลังจากก่อนหน้านี้ ไทยมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ซีไอเอ็มบี ไทย จัดคอนเสิร์ต “CIMB Concert : 15 Years of Growing Forward”