สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 มิ.ย. 67

1. สรุปสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และทะเลจีนใต้ตอนกลางทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 22 – 26 มิ.ย. 67มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 50% ของความจุเก็บกัก (40,157 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 28% (15,989 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 5 แห่งภาคเหนือ : ภูมิพล และสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก : ปราณบุรี
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : ววานนี้ (20 มิ.ย. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เตรียม ความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และพิจารณาแนวทาง การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง โดย สนทช. ได้รายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และแนวโน้มสถานการณ์น้ำ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 10 มาตรการรับมือฤดูฝน (ช่วงส.ค. – ต.ค.) การบริหารจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา กลุ่มลุ่มน้ำชี – มูล โดยเฉพาะการบริหารจัดการเชื่อมโยงกันของลุ่มน้ำ การบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤต (3 ระดับ) โดยขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ กลไกแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำเพื่อให้ประชาชนพร้อมรับมือได้ทันท่วงที การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า รวมทั้งที่ผ่านมา สทนช. ร่วมกับกรมชลประทาน และ กทม. ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมระบบระบายน้ำ และติดตามสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 ในเขตกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ นายกฯ ได้ย้ำถึงสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งซึ่ง ถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยทุกหน่วยงานต้องมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในช่วงระยะสั้น ๆ 3 เดือน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำ ดังนี้
1. การเตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์น้ำ ประกอบด้วย (1) เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บน้ำ และพื้นที่ทุ่งรับน้ำ (2) การระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ขอระบายน้ำอย่างให้รวดเร็ว ไม่ให้เกิดน้ำเน่าในพื้นที่ท่วมขัง (3) ป้องกันผลกระทบจากน้ำไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชนเมือง (4) จัดทำแผนการระบายน้ำ อย่างเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ (5) เตรียมการสำรวจและแก้ไข สิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และ (6) ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลศาสตร์
2. การเตือนภัย ให้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งพยากรณ์อากาศ และการเตือนภัย ต้องมีความชัดเจน แม่นยำ
3. ให้สำรวจพื้นที่เกษตรกรรมที่จะได้รับผลกระทบ
4. จัดทำแผนการดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันอย่าง มีเอกภาพ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยด้านน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 มิ.ย. 67