นบข.ผุด “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ลดต้นทุนเกษตรกร
• รัฐทุ่ม 1.5 หมื่นล้านบาท คนละครึ่งกับชาวนา
• ฤดูกาลผลิต 67/68 ดึงปุ๋ย 14 สูตรร่วมโครงการ
• “ภูมิธรรม” ยันเลิกแจกเงินเกษตรกรไร่ละพัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เสนอ
โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือเกษตรกรในการซื้อปุ๋ยครึ่งหนึ่ง และเกษตรกรออกเองอีกครึ่งหนึ่ง รวมวงเงินที่จะใช้ดำเนินการทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท โดยมีปุ๋ยรวมทั้งหมด 14 สูตร ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อให้โครงการสามารถเริ่มได้ทันฤดูการผลิตปี 67/68
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการปลูกข้าวให้เกษตรกร โดยรัฐบาลจะสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกร ในปีการผลิต 67/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกรปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 0.20 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 120 ล้านไร่
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการใช้ปุ๋ย และสารชีวภัณฑ์ในนาข้าว ในสูตรและอัตราที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ พร้อมสร้างเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้ปัจจัยการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น 3 เท่าในระยะเวลา 4 ปี
“โครงการนี้ จะช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องแจกให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท เหมือนที่ผ่านมา ที่จ่ายสูงถึงกว่า 50,000 ล้านบาท และน่าจะสั่งซื้อได้ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยรายละเอียดทั้งหมด กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้จัดทำ” นายภูมิธรรม กล่าว
ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังได้เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 67 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ต่อไป
สำหรับสถานการณ์ข้าวไทย ปี 66/67 ผลผลิต 33.05 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 0.58 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลง 2% จากปีก่อน ขณะที่ราคาข้าวเปลือกล่าสุดเดือนมิ.ย. สูงขึ้นทุกชนิดเมื่อเทียบปีก่อน โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตันละ 15,000-16,500 บาท เพิ่มขึ้น 8%, ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาตันละ 14,600-16,000 เพิ่มขึ้น 35%, ข้าวเจ้า ราคาตันละ 11,700-12,600 เพิ่มขึ้น 20% และข้าวเหนียว ราคาตันละ 13,800-14,600 เพิ่มขึ้น 8%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ซีพี แอ็กซ์ตร้า จับมือ กรมการค้าภายใน สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยทั่วประเทศ