สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 มิ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออก
คาดการณ์ : วันที่ 14 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ส่วนวันที่ 15 – 18 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 50% ของความจุเก็บกัก (40,507 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 28% (16,335 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 5 แห่งภาคเหนือ : ภูมิพล และสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก : ปราณบุรี
3. คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตือน เฝ้าระวัง!!! น้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 6 – 12 มิถุนายน 2567 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (วันที่ 12 มิ.ย. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ได้เปิดเผยผลการประชุมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บริเวณขอบของประเทศ ในขณะที่ตอนกลางของประเทศมีฝนตกไม่มากนัก
โดยในระหว่างวันที่ 5 – 12 มิ.ย. 67 มีพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย 10 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 6 จังหวัด ในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง จ.น่าน จ.พะเยา จ.ตาก ภาคกลาง 2 จังหวัด ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม และภาคตะวันออก 2 จังหวัด ในพื้นที่ จ.จันทบุรี จ.ตราด โดยเป็นสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์อย่างเต็มที่
โดยปัจจุบันยังคงเหลือสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี จ.จันทบุรี และ จ.ตราด สำหรับช่วงวันที่ 13 –.18 มิ.ย. 67 กรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. คาดการณ์ว่าฝนจะมีการตกแบบกระจาย ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก และจะมีฝนตกหนักในบริเวณชายขอบของประเทศฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ สทนช. ได้เน้นย้ำในเรื่องของการแจ้งเตือนภัยให้มีการเตือนภัยล่วงหน้า 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน เพื่อช่วยลดความเสียหายใหได้มากที่สุด ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี จะมีการเรียกประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเร็วๆ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 มิ.ย. 67