สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 มิ.ย. 67

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
คาดการณ์ : วันที่ 13 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 50% ของความจุเก็บกัก (40,849 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 28% (16,318 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันตก: ปราณบุรี
3. คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง : สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 6 – 12 มิ.ย. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2566 – 2580 รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในการอุปโภคบริโภค น้ำท่วมน้ำแล้ง ความมั่นคงทางด้านการผลิต การฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างสูง เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษารายละเอียดและร่วมกันวางแผนป้องกันปัญหาในระยะยาวกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อไม่ให้ประชาชนมีความขัดแย้งในการแย่งน้ำระหว่างภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม โดยขอให้ใช้งบประมาณที่อนุมัติไปแล้วซ่อมแซมเขื่อน ท่อส่งน้ำ หรือพนังกั้นน้ำที่ชำรุดตามพื้นที่ต่างๆ ให้กลับมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว
6. การใช้ความช่วยเหลือ : กองบัญชาการกองทัพไทย ลงพื้นที่ติดตามและสำรวจระดับน้ำบริเวณจุดวัดระดับน้ำในแม่น้ำเมย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา อยู่ในระดับปกติ รวมทั้งเข้าตรวจสอบแนวเขื่อนป้องกันตลิ่งทรุดตัวบริเวณ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน เพื่อประเมินสถานการณ์และคาดการณ์ปริมาณน้ำ สำหรับเป็นข้อมูลในการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยและสามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 มิ.ย. 67