สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 มิ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ :มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคเหนือตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก
พายุโซนร้อน “มาลิกซี” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนแล้ว โดยมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันออกเล็กน้อย คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ
คาดการณ์ : วันที่ 2-6 มิ.ย. 67 ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 51% ของความจุเก็บกัก (40,924 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 29% (16,749 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 5 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก: ศรีนครินทร์ และปราณบุรี
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน น้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.สถานการณ์เพาะปลูกพืช
แผนและผลการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ทั้งประเทศ แผนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ทั้งในและนอกเขตชลประทาน 87.01 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.61 ล้านไร่ (2%) จำแนกได้ดังนี้
แผนปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ 62.44 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.29 ล้านไร่ (2%)
แผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผักทั้งประเทศ 24.57 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.32 ล้านไร่ (1%)
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ทั้งในและนอกเขตชลประทาน 15.06 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.98 ล้านไร่ (7%) จำแนกได้ดังนี้
แผนปลูกข้าวนาปี 13.80 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.96ล้านไร่ (7%)
แผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก 1.26 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.02 ล้านไร่ (2%)
5.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : ด้วยรัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เน้นย้ำจัดลำดับความสำคัญการบริหารจัดการน้ำ และการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นหลัก
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลการคาดการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในรูปแบบคณะทำงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานการเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจเรดาร์ของกรุงเทพมหานครเข้ากับการคาดการณ์พยากรณ์อากาศด้วยแบบจำลองของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำมาใช้สำหรับการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าสำหรับแจ้งเตือนประชาชน และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 พ.ค. 67