สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 พ.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งโดยมีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออก
พายุไต้ฝุ่น “เอวิเนียร์” ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มการเคลื่อนตัวไปทางด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 30–31 พ.ค. 67 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
คาดการณ์ : วันที่ 30 พ.ค. – 3 มิ.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรง ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 51% ของความจุเก็บกัก (41,141 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 29% (16,967 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 5 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก: ศรีนครินทร์ และปราณบุรี
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : 4.1 ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 5/2567 ลงวันที่ 25 พ.ค. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 25–31 พ.ค. 67 มีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก และพิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด
ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันออก จ. ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ. ชุมพร และระนอง
4.2 สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 23 – 31 พ.ค. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
5.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (28 พฤษภาคม 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมหารือเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ได้รายงานถึงการคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูฝนปีนี้ปริมาณฝนตกจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา 10% โดยในช่วงเดือนกันยายนนี้จะมีปริมาณน้ำทั้งจาก น้ำฝน น้ำหลาก และน้ำเหนือ ซึ่งมีปริมาณมากและจะไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำดังกล่าวในเขตกรุงเทพมหานคร ในส่วนของการขุดลอกท่อได้รับการสนับสนุนอัตรากำลังจากกรมราชทัณฑ์และกองทัพ สำหรับถนนที่มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังทางกระทรวงคมนาคม
ได้เร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เร่งขุดลอกคลอง ทำคันกั้นน้ำ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำช่วงเดือนกันยายน และเตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้จัดลำดับความสำคัญการบริหารจัดการน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ทุกครั้งที่ฝนตกเกิดน้ำท่วมขัง พี่น้องประชาชนในพื้นที่ชุมชนใช้ชีวิตได้ยากลำบาก ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 พ.ค. 67