สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 พ.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเวลา 01.00 น. ของวันนี้ พายุดีเปรสชัน “ริมาล” (REMAL) ปกคลุมบริเวณบังกลาเทศ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป ส่วนพายุไต้ฝุ่น “เอวิเนียร์” ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้ม การเคลื่อนตัวไปทางด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 30–31 พ.ค. 67 โดยพายุทั้งสองนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพอากาศของประเทศไทย
คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 51% ของความจุเก็บกัก (41,185 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 29% (17,011 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 5 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก: ศรีนครินทร์ และปราณบุรี
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : 4.1 ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 5/2567 ลงวันที่ 25 พ.ค. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 25–31 พ.ค. 67 มีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก และพิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด
ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันออก จ. ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ. ชุมพร และระนอง
4.2 สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 23 – 31 พ.ค. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
5.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวว่า กทม. ได้เตรียมความพร้อมแผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศเตือนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงระหว่างวันที่ 23-31 พ.ค. 67
กทม. ได้ประชุมร่วมกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ รวมทั้งได้ออกคำสั่งให้สำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังและเตรียมการขนย้ายสิ่งของ พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอและมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำท่วมรับทราบสถานการณ์น้ำขึ้นลงเป็นระยะ ๆ นอกจากนั้น ยังได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมถึงเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ จัดเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 พ.ค. 67