สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 พ.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก สำหรับลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตรา ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 20 – 22 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น
ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 52% ของความจุเก็บกัก (41,563 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 30% (17,390 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก: ศรีนครินทร์
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์เตือนภัย น้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18–25 พ.ค. 67
ในพื้นที่ ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่านอุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล และสงขลา
สทนช. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มม. ในพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
5.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค. 67 เป็นต้นไป ซึ่งในฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยและมีแนวโน้มเป็นปรากฏการณ์ลานีญา อาจเกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้ ซึ่ง สทนช.ได้ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยล่าสุดได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ช่วงวันที่ 18-25 พ.ค. 67 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่
เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 67 และการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับฤดูแล้ง ปี 67/68 ตามมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้หน่วยงานต่างๆ เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการตามภารกิจให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝนดังกล่าว และรายงานผลการดำเนินงานมายัง สทนช. ให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สทนช. ยังได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 และมาตรการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมเป็นคณะทำงาน สำหรับพื้นที่ กทม. ได้ขอให้ กทม. เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำรวมทั้งเตรียมแผนในการบูรณาการ และความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 พ.ค. 67