สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 พ.ค. 67
1. สภาพอากาศวันนี้ : ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง น้ำท่วมขัง สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ
คาดการณ์ : วันที่ 12 – 13 พ.ค. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงเกิดขึ้น รวมถึงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในวันที่ 14 –16 พ.ค. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้ และลมใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 53% ของความจุเก็บกัก (42,404 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 31% (18,248 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 5 แห่งภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก: คลองสียัด ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก: ศรีนครินทร์ (ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง)
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์วิกฤติ (ค่าความเค็ม 0.16-1.15 กรัม/ลิตร) น้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา เกินเกณฑ์มาตรฐาน (ค่าความเค็ม 1.39-4.16 กรัม/ลิตร)
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ :
4.1 สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำ พบว่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำประปาสำแล และบริเวณปากคลองจินดา มีค่าเกินมาตรฐานการผลิตน้ำประปาและการเกษตร สทนช. ได้ประสาน ชป. และกปน. ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อปรับค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการผลิตน้ำประปาและการเกษตร โดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง และลดการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งได้เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองจินดา แทนการรับน้ำสู่แม่น้ำท่าจีน ในช่วงระหว่างวันที่ 10 –17 พ.ค.67 ทั้งนี้ กปน.จะหยุดสูบน้ำดิบในช่วงเวลาที่มีค่าความเค็มสูง
4.2 เมื่อวานนี้ (10 พ.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ประตูระบายน้ำลาดน้ำเตียน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาในพื้นที่ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. ร่วมลงพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีวิธีการบริหารจัดการเรื่องน้ำดีที่สุด ตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ บรรหาร ศิลปะอาชา ซึ่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้สืบสานเจตนารมณ์ต่อมาจนเป็นที่ประจักษ์ว่าการบริหารจัดการน้ำนั้นเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมทั้งชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีการทำงานใกล้ชิดกับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทานและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาที่มีการเพิ่มแหล่งน้ำ พัฒนาระบบระบายน้ำ รวมถึงบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชน ปัจจุบันโครงการต่าง ๆ ที่ทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้เสนอมาทางรัฐบาลได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับว่าจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค-บริโภค และมีพื้นที่การเกษตรสร้างความยั่งยืนของพื้นที่ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 พ.ค. 67