กกร. ค้านขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 400 บาท
กกร.หวั่นปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ กระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ 2.2-2.7% เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยระบุว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวนเช่น ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ
อีกทั้ง จะเป็นการกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค.2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทย
ทั้งนี้ กกร. จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ
นอจากนี้ ยังได้ปรับลดประมาณการจีดีพี ไทยปี 67 มาที่ 2.2-2.7% เนื่องจาก มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม จากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ตามทิศทาง การค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกัน ยังปรับลดประมาณการเงินเฟ้อมาที่ 0.5-1%
โดยการค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลด คาดการณ์การค้าโลกปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือ 3.7%
โดย IMF ประเมินว่า ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่าน ที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อ ปริมาณการค้าโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม
สำหรับ ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่
1. ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลง ของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ
2. การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรม ทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้