รมว.ท่องเที่ยว เร่งดันรายได้ แตะ 3.5 ล้านล้านบาท
• วาง 4 กลยุทธ์ ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย
• กีฬา-สุขภาพเป้าหมายเพิ่มรายได้เข้าประเทศ
• ชูท่องเที่ยวยั่งยืน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
เสริมศักดิ์ พร้อมลุยวางหนักดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย หวังเพิ่มรายได้ปีนี้ 3.5 ล้านล้านบาท ดันไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยว หรือ Tourism Hub
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยหลังจากเข้ารับตำแหน่งว่า การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงฯ จะต้องดำเนินการทั้งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา โดยทำให้ท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาทต่อปี และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub)
ตอนนี้ โจทย์ คือ การหารายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้ เวลาล่วงมาแล้ว 4 เดือน ยังมีเป้าหมายที่จะต้องทำอีกมาก จึงได้มอบนโยบายเร่งด่วนด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
1. การส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง Low season ระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ย. จะต้องส่งเสริมการตลาดเชิงรุกไปยังกลุ่มประเทศที่ได้รับ VISA FREE โดยให้มีการทำ Package ที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การตรวจสุขภาพ งานแต่งงาน การท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQ+ (กลุ่มข้ามเพศ) กลุ่มความเชื่อมูเตลู กลุ่มแฟนคลับของไอดอลไทย หรือเกาหลี หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่พำนักในประเทศไทยและมีค่าใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น
2. วันหยุดยาวของประเทศจีน (Golden week) ช่วงวันที่ 1-7 ต.ค.นี้ จะต้องคิดแคมเปญ หรืออีเว้นท์ใหม่ๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวชาวจีน
3. ในช่วง High season ระหว่างเดือนต.ค.-ก.พ. ก็จะต้องคิดแคมเปญ หรืออีเว้นท์ใหม่ๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ซึ่งหนีหนาวมาเที่ยวเมืองไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะวางแผนการท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงนี้
4. การหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ การท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) พัฒนาแหล่งเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ และเป็นการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ซึ่งจะได้มีการรีบหารือกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อไป
อย่างไรก็ดี จะต้องมีการคำนึงถึงความยั่งยืนและการรักษาความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย
ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนด้านการกีฬา เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จด้านการกีฬาอาชีพ และสมัครเล่น ควบคู่ไปกับการขยายการเข้าถึงการออกกำลังกายของประชาชนเพื่อรักษาสุขภาพ
1. การผลักดันให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ จะต้องทำให้ “กีฬาคืออาชีพ” นักกีฬาสามารถดำรงชีวิตและสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองได้ โดยผลักดันผ่านสโมสรกีฬาและสมาคมกีฬาต่างๆ
2. การนำกีฬามาช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ การสร้างศูนย์กลางกีฬา (Sport Hub) ในระดับภูมิภาค การกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว (Sport Tourism) การสร้าง World Class Event เช่น กอล์ฟ วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา เรือใบ และ E-Sport เป็นต้น
3. การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ ลดความเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่ติดต่อ (Non Communicable Diseases: NCD) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคไตวาย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการลดภาระด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยการปลูกฝังจิตสำนึกในการออกกำลังกาย การสร้างสนามกีฬา ลานกีฬา และพื้นที่สีเขียว เพื่อการออกกำลังกายให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการออกกำลังกาย (Fitness Center)
อย่างไรก็ดี การผลักดันนโยบายท่องเที่ยวและกีฬา จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและบุคลากรของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการปฏิบัติงานด้วย