เพื่อไทยกินรวบกระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลัง แบ่งงานรัฐมนตรี เสร็จเรียบร้อย และเป็นไปตามคาด พรรคเพื่อไทย ไม่แบ่งงาน 3 กรมภาษีให้พรรครวมไทยสร้างชาติ งานนี้ คนวงในชี้ ไม่ยุติธรรม อดีตปลัดกระทรวงการคลัง-รมช.คลัง “กฤษฎา” นั่งตบยุง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลัง เย็นวานนี้ (7 พ.ค.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ทำการแบ่งงาน รมช.คลัง ทั้ง 3 คนเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย คนจากพรรคเพื่อไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
ทั้งนี้ หลังจากที่มีข่าวเรื่องการแบ่งงานแพร่สะพัดออกไป ข้าราชการต่างจับกลุ่มวิจารณ์กันอย่างหนัก เนื่องจาก นาย กฤษฎา รมช.คลัง ได้รับมอบหมายให้กับหน่วยงานที่ไม่ค่อยมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะ 3 กรมภาษี ประกอบด้วยกรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ นายจุลพันธ์ ทั้งหมด โดย 3 กรมภาษีดังกล่าว จัดเก็บรายได้รวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท งบประมาณประมาณแผ่นดิน
“เหตุการณ์แบบนี้ ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ การมี รมช.คลัง 3 คน น่าจะมีเพียง 1 หรือ 2 ครั้ง ในรอบ 149 ปี” ข้าราชการระดับสูงกล่าว และกล่าวว่า การแบ่งงานในครั้งนี้ เท่ากับพรรคเพื่อไทยต้องการคุมกระทรวงการคลังแบบเบ็ดเสร็จ และแน่นอน จะไม่มีการถ่วงดุลอำนาจเกิดขึ้นภายในกระทรวงการคลัง
“ครั้งหนึ่ง จำได้ว่าโครงการจำนำข้าว ของพรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีใครกล้าท้วงติงการใช้เงินจำนวนมหาศาล ยกเว้นข้าราชการกระทรวงการคลัง ซึ่งสุดท้ายแล้ว โครงการนี้ ก็ไปไม่รอด และยังเป็นต้นเหตุในการเสนอย้ายปลัดกระทรวงการคลังสมัยนั้น (อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม) ไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ รองปลัดกระทรวงการคลัง (สุภา ปิยะจิติ) ซึ่งอยู่ข้างเดียวกับปลัดอารีพงศ์ ก็ขอลาออก แล้วนั่งเป็นกรรมการที่ ป.ป.ช.
ดังนั้น การแบ่งงานในครั้งนี้ ดูเหมือนดี เพราะพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคเดียวที่กำหนดทิศทางการทำงานของกระทรวงการคลัง แต่ในอีกแง่มุม หากถ้ามีการโกงเกิดขึ้น กระทรวงการคลังในเวลานี้ ก็ไม่ต่างกับช่วงของโครง การจำนำข้าว
สำหรับการแบ่งงาน 3 รมช.คลัง ประกอบด้วย
1. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง การกำกับดูแล กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต รัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. องค์การสุรา โรงงานไพ่ กยศ.
2. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กำกับดูแล สศค. สคร. กรมธนารักษ์ รัฐวิสาหกิจ ธพส. ธสน. กอช. บสย. และธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์
3. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กำกับดูแล สบน. รัฐวิสาหกิจ การยาสูบแห่งประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) คปภ. สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือเนด้า
โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กรณีที่ รมว.คลัง ไม่ได้มอบหมายส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจให้ รมช.คลัง กำกับดูแลเท่ากับ รมว.คลัง จะเป็นผู้กำกับดูแลด้วยตนเอง เช่น ธนาคารออมสิน กรมบัญชีกลาง เป็นต้น
ส่วนกรณี บริษัท ทิพยะประกันภัย ไม่ได้มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ระบุว่า ให้ นายกฤษฎา กำกับดูแล ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอาจมีความผิดพลาดได้