สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 พ.ค. 67
1. สภาพอากาศวันนี้ : ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด มีแนวพัดสอบของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน โดยมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 8 – 11 พ.ค. 67 แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมทั้งมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 5ภ% ของความจุเก็บกัก (43,109 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 33% (18,944 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก: คลองสียัด ภาคกลาง : กระเสียว (ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง)
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน น้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : สำนักงบประมาณ จับมือ สทนช. ลงพื้นที่ติดตามโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 67 สนทช. ลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่พื้นที่ 300 ไร่ บ้านพันเสา หมู่ที่ 3 ต.พันเสา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เนื่องจากในอดีตเกษตรกรประสบปัญหาบ่อน้ำบาดาลเก่า ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และคุณภาพน้ำมีการปนเปื้อน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้ยื่นคำขอรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร
จากการติดตามพบว่า โครงการดังกล่าวปัจจุบันมีสมาชิกผู้ใช้น้ำบาดาล 29 ราย มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 324 ไร่ พื้นที่ ส่วนใหญ่เน้นทำเกษตรอินทรีย์ไร้สารเคมี สามารถส่งพืชผักสวนครัวไปจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้ารายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 3 เท่า พร้อมวางแผนเพาะปลูกในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างต่อเนื่อง เพียงพอกับความต้องการของตลาดเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างมาก