คลังทะลวงงบลงทุนใหม่ 2.5 แสนล้านบาทฉลุย
กระทรวงการคลัง มั่นใจหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีโครงการลงทุนใหม่ที่สามารถลงนามได้ทันที 250,000 ล้านบาท จากงบประมาณลงทุน 717,000 ล้านบาท
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า แม้งบประมาณปี2567 จะยังไม่ผ่านจากสภา แต่กระทรวงการคลังก็เตรียมความพร้อมที่จะใช้งบฯ ได้ทันที ที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ซึ่งการเร่งใช้เงินงบประมาณมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้
“กรมบัญชีกลาง รายงานว่า จะมีการลงนามในสัญญาโครงการลงทุนใหม่ หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี67 มีผลบังคับใช้แล้ว 250,000 ล้านบาท” รมช.คลัง กล่าวว่า
รมช.คลัง กล่าวว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีนี้ แม้จะล่าช้ากว่ากำหนด แต่ส่วนราชการที่มีโครงการลงทุนใหม่ก็ได้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่การจัดทำ TOR การประกาศเชิญชวน และการเปิดประมูลโครงการเอาไว้ก่อนได้ เพียงแต่ยังไม่มีการลงนามในสัญญา ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายมีผลบังคับใช้ โครงการที่มีการประกวดราคาได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ก็ได้เริ่มลงนามในสัญญาทันที
นอกจากโครงการที่ลงนามในสัญญาไปแล้ว ยังมีโครงการที่ประกวดราคาไปแล้ว จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว แต่ยังไม่มีการลงนามในสัญญาอีกราว 70,000 ล้านบาท และอีกราว 160,000-170,000 ล้านบาท อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนการทำ TOR
ทั้งนี้ พรบ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าช้ากว่าปฏิทินงบประมาณปกตินานถึง 7 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยงบประมาณรายจ่ายปี2567 มีจำนวน 3.48 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นงบลงทุนของรัฐบาล 717,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.6 % ของงบประมาณรายจ่าย
นายกฤษฎา กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนไว้ที่ 75% ของงบรายจ่ายเพื่อการลงทุน โดยกรมบัญชีกลางได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจ หรือ Special Team จำนวนหลายทีม เพื่อให้แต่ละสามารถดูแลกรมต่างๆ ที่มีงบลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาในกรณีที่เกิดปัญหาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ นอกจากนั้น กรมบัญชีกลางยังได้ออกหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการต่างๆ ที่มีโครงการลงทุน ซึ่งเป็นมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน
ทั้งนี้ มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมบัญชีกลาง เช่น รายการลงทุนปีเดียวให้หน่วยรับงบประมาณ(เจ้าของโครงการ)พิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนก.ย.2567
กรณี รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพัน(ทำสัญญา)ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.2567
และหากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ (ทำสัญญา) ได้ทันภายในปีงบประมาณ2567 ให้หน่วยรับงบประมาณ (เจ้าของโครงการ) แจ้งสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินงบประมาณพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งหมายถึงการตัดงบประมาณของโครงการนั้นๆ ทิ้งไป เนื่องจากไม่สามารถทำสัญญาได้ทันในปีงบประมาณนั้น