ครม.รับหลักการ “แจกเงินดิจิทัล” ส่ง กฤษฏีกา วินิจฉัย ใช้เงิน “ธ.ก.ส.”

ครม.เห็นชอบหลักการ “แจกเงินดิจิทัล” ส่ง กฤษฏีกา วินิจฉัย ใช้เงิน “ธกส.”
วันที่ 23 เม.ย.67 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คกก.นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ และมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

โดย คกก.นโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 มีมติ 3 ข้อดังนี้
- รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ (เบื้องต้น) ที่คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการ
- เห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
- วัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศราฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
- กลุ่มเป้าหมายต้องมีคุณสมบัติ เช่น มีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 480,000 บาทต่อปีภาษี และเป็นผู้มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท
- แนวทางการเข้าร่วมโครงการฯ เช่น กลุ่มผู้ใช้สิทธิต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ และใช้แอปพลิเคชันเพื่อสแกน QR Code ณ ร้านค้าในพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน
- เงื่อนไขการใช้จ่าย เช่น ให้ประชาชนใช้จ่ายแบบพบหน้า (Face to Face) เพื่อซื้อสินค้ากับร้านค้าขนาดเล็กในพื้นที่เท่านั้น (การใช้จ่ายรอบที่ 1) แต่ไม่รวมถึงบริการทั้งนี้ ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอ
- เงื่อนไขการถอนเงินสดจากโครงการฯ ของร้านค้า เช่น ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ซึ่งร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย
- หน่วยงานผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนร้านค้า
- แหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ จำนวน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท (2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ (3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
- ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569
ทั้งนี้ ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ โดยมอบหมายให้ กค. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คกก. นโยบายฯ นำเสนอเรื่องต่อ ครม. ต่อไป

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ยังยืนยันประชาชนจะสามารถลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3 และจะได้ใช้เงินในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนที่มาแหล่งรายได้ หากมีข้อสงสัย นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย โดยรัฐบาลยืนยันว่า แหล่งเงินจาก ธกส.นั้น เป็นไปตามกรอบกฎหมาย แต่เมื่อมีข้อสงสัย ก็พร้อมที่จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัย
นายจุลพันธ์ ระบุ พร้อมกันนี้ สหภาพ ธกส.ก็พร้อมเดินหน้านโยบายนี้ ที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร โดยสภาพคล้องนั้น ธกส.มีความมั่นคงสูง มีศักยภาพที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวได้ รัฐบาลเองก็จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับ ธกส.และการดำเนินการของรัฐบาล จะไม่กระทบต่อสวัสดิการของพนักงาน ธกส.