มูดี้ส์ คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย Baa1
Moody’s คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ Baa1 และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันนี้ (11 เม.ย. 2567) บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย อีกทั้งมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็นประมาณ 3% ในปี 2567 – 2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว โดยปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านคน ในปี 2566 เป็น 35 ล้านคน ในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน ในปี 2568 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Pre-pandemic) ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ อีกทั้งภาครัฐได้สนับสนุนการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเพิ่มการมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี
2. ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ยังมีความเข้มแข็งแม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่ Moody’s คาดว่า ในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างระมัดระวังได้ (Conservative Fiscal Policymaking) นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง (Strong Debt Affordability) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (Peers) โดยสามารถใช้เครื่องมือการระดมทุนในประเทศที่หลายหลายด้วยต้นทุนต่ำ อีกทั้งหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทและมีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity) ยาว
3. ปัจจัยสำคัญที่ Moody’s จะติดตามเพื่อวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย ได้แก่ ศักยภาพการผลิต (Productivity) การปฏิรูปด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง ตลอดจนการมุ่งเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation)