สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 เม.ย. 67
1. สภาพอากาศวันนี้ : ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น และลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 12 – 16 เม.ย. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทย มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (47,054 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 39% (22,867 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก: คลองสียัด ภาคกลาง : กระเสียว (ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง)
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน น้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (10 เม.ย. 67) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สรุปได้ดังนี้
1. ผลกระทบของสถานการณ์เอลนีโญน้อยลง โดยในระยะนี้ มีโอกาสจะเกิดพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้นหลายพื้นที่ ประกอบกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในพื้นที่รับน้ำ ซึ่งจะทำให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น
2. ปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 47,193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ของความจุ
3. การติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 อย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้มีการลงพื้นที่ทำงานเชิงรุกเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี ทำให้พื้นที่ประสบภัยแล้งลดลง พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มความแม่นยำการคาดการณ์สถานการณ์ฝนเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและวางแผนการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเร่งตรวจสอบและซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ เพื่อให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานในทุกแห่งทั่วประเทศก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
4. สถานการณ์คุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นข้อกังวลของประชาชนจากกรณีรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ใน สปป.ลาว ทำให้กรดซัลฟิวริกไหลลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่าง ได้รับการแจ้งยืนยันจาก MRCS แล้วว่า เหตุดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำข้ามพรมแดนในแม่น้ำโขงตอนล่างที่ครอบคลุมถึงพื้นที่ประเทศไทยอย่างแน่นอน