สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 เม.ย. 67
1. สภาพอากาศวันนี้ : ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 7 เม.ย. 67 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 58% ของความจุเก็บกัก (47,790 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 41% (23,594 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก: คลองสียัด ภาคกลาง : กระเสียว (ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง)
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา เกินเกณฑ์มาตรฐาน (ค่าความเค็ม 3.62 กรัม/ลิตร)
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2567 เรื่อง เฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง ตามที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แจ้งการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ทำให้กรดซัลฟิวริกไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 67 สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าสารเคมีจะเคลื่อนตัวผ่านเขื่อนไซยะบุรี วันที่ 5 เม.ย. 67 ซึ่งจะทำให้สารเคมีเจือจางลง จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย (จังหวัดเลย) ช่วงวันที่ 8 – 10 เม.ย. 67 และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงในประเทศไทย และขอให้จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โปรดประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การประมงสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ