สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 เม.ย. 67
1.สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 3–7 เม.ย. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกรรโชกแรงบางแห่ง ส่วนบริเวณภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 59% ของความจุเก็บกัก (48,376 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 42% (24,175 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก : คลองสียัด ภาคกลาง : กระเสียว (ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง)
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ ช่วงวันที่ 10–15 เม.ย. 67
4.1 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และไม่มีแนวคันกั้นน้ำ (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
4.2 เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน และบางปะกง
5.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 67 นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมบรรยายถึงภาพรวมความสำคัญในการกำหนดมาตรฐานข้อมูลด้านน้ำ ที่จัดขึ้นภายในงานสัมมนา “การจัดทำมาตรฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มกลาง ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำ” โดยมี ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานสัมมนา ณ โรงแรมเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
สทนช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่บูรณาการกำกับดูแลนโยบายด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มีแนวทางการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำ ประกอบด้วย การจัดกลุ่มข้อมูลและกำหนดชุดข้อมูลทรัพยากรน้ำเพื่อการแลกเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ทั้ง 5 ด้าน และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทรัพยากรน้ำ ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องในมิติต่างๆ การจัดทำมาตรฐานข้อมูลเพื่อการแลกเปลี่ยน และการกำหนดวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างศูนย์ข้อมูลและการใช้งาน Application ทั้งนี้ การบริหารจัดการข้อมูลที่ดี มีรากฐานมาจากการจัดทำมาตรฐานข้อมูลกลางที่เป็นระบบเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการติดตามและประเมินผลคุณภาพข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ที่จะส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี มีประสิทธิภาพ สามารถบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของทุกหน่วยงานด้านน้ำได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลด้านน้ำได้อย่างเท่าเทียม