กรมสรรพสามิตบูรณาการปราบน้ำมันเถื่อน

สรรพสามิต MOU กับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล บูรณาการความร่วมมือการปฏิบัติงานและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ยกระดับการป้องกันและปราบปรามลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนทางทะเล
กรมสรรพสามิตลงนามบันทึกความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) บูรณาการความร่วมมือการปฏิบัติงานและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พัฒนากลไกและขีดความสามารถเท่าทันสถานการณ์ทางทะเลและภัยคุกคามทางทะเลรูปแบบใหม่ เน้นบูรณาการการปฏิบัติงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อควบคุมดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันเขียว ตามนโยบายกรมสรรพสามิตป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีอย่างถูกต้อง

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 นาย เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต และ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ณ ห้องรับรอง บก.ทร. กองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่พระราชวังเดิม

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า MOU ดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกรมสรรพสามิตและ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในการร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ ผ่านการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทะเล พัฒนากลไกและขีดความสามารถในการรับรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเลและภัยคุกคามทางทะเลรูปแบบใหม่ โดยในส่วนของกรมสรรพสามิตจะเน้นบูรณาการข้อมูลข่าวสารในการกำกับดูแลและควบคุมโครงการจำหน่ายน้ำมันเขียว ซึ่งเป็นน้ำมันที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เพื่อจำหน่ายให้ชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ซึ่งห่างจากชายฝั่ง 12-24 ไมล์ทะเล ผ่านเรือสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน โดยน้ำมันเขียวที่ขายอยู่กลางทะเลจะมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลที่ขายอยู่บนบก เพื่อให้ต้นทุนการทำประมงถูกลง และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่มีเรือบางลำได้ลักลอบนำน้ำมันเขียวที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำกลับเข้ามาขายต่อ ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงความไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีที่ถูกต้อง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลในครั้งนี้ จะช่วยให้กรมสรรพสามิตสามารถควบคุม ตรวจสอบ เส้นทางการเดินเรือบรรทุกน้ำมันส่งออกที่ได้รับการยกเว้นภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการยกระดับการป้องกันและปราบปรามลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนทางทะเล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีที่ถูกต้อง โดยข้อมูลที่จะบูรณาการเชื่องโยงแลกเปลี่ยนนั้นจะเป็นข้อมูลจากระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ (Automatic Identification System : AIS) และระบบตรวจสอบและติดตามเรือขนส่งน้ำมัน Real Time Surveillance (RTS) ของกรมสรรพสามิต ซึ่งจะเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของ ศรชล. โดยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อสนับสนุนภารกิจในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพสามิตและ ศรชล. ให้เกิดการดำเนินงาน ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน