สทนช.ลงพื้นที่ช่วยชาวสวนทุเรียน หวั่นป่าละอูน้ำท่วมซ้ำซาก
สทนช. ลงพื้นที่ต.ห้วยสัตว์ใหญ่จ.ประจวบคีรีขันธ์สำรวจสภาพปัญหาทุกเรียนป่าละอูขาดน้ำและยืนต้นตายพบว่าแหล่งน้ำต้นทุนมีน้อยขาดการกระจายให้ทั่วถึงและเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคระดมหน่วยงานและชุมชนร่วมวางแผนการกระจายน้ำให้ทั่วถึงและเพียงพอตลอดแล้งนี้
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ๋ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อำเภอหัวหิน อบต. ห้วยสัตว์ใหญ่ ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากข้อห่วงใยของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ต่อสถานการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบในเรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ ต. ห้วยสัตว์ใหญ่แห่งนี้ในช่วงเดือนเมษายน 2566 ประสบปัญหาสวนทุเรียนขาดน้ำ ชาวบ้านเดือดร้อนหนักจากกรณีทุเรียนยืนต้นตาย เนื่องจากการส่งน้ำจากฝายน้ำล้นส่งมาไม่ถึงพื้นที่ท้ายน้ำ มีสาเหตุจากการขาดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ ไม่มีการควบคุมการใช้น้ำในระบบส่งน้ำทำให้ด้านท้ายน้ำไม่ได้รับน้ำ เกิดปัญหาการแย่งน้ำขึ้น ในครั้งนั้น สทนช. ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบในขณะนั้น
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2567 นี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ฝนจะมาล่าช้าและมีปริมาณฝนน้อย อาจส่งผลให้พื้นที่ปลูกทุเรียนและไม้ยืนต้นใน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอีกครั้ง สทนช. จึงลงพื้นที่พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการแนวทางป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นหรือให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งจากการหารือร่วมกัน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และลงพื้นที่จุดต่างๆ เพื่อสำรวจสภาพปัญหา พบว่าในพื้นที่มีแหล่งกักเก็บน้ำได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยพุไทรซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำดิบสำหรับผลิตประปาในหมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลือน้อยคาดว่าจะพอใช้ได้ถึงเดือนเมษายนอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลามีปริมาณน้ำเหลือประมาณ 90% แต่ไม่เพียงพอสำหรับการส่งน้ำสนับสนุนในพื้นที่ได้ และยังขาดอุปกรณ์สูบผันน้ำจากแหล่งอื่นๆมาเก็บไว้ในแหล่งเก็บน้ำของ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ สำหรับแม่น้ำปราณบุรีซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่เมื่อถึงฤดูแล้งจะมีน้ำน้อยเนื่องจากไม่มีการทำฝายชะลอน้ำกักเก็บไว้ นอกจากนี้สภาพฝายส่งน้ำและคลองส่งน้ำในพื้นที่ยังมีสิ่งกีดขวางทางน้ำและวัชพืชปลกคลุม รวมถึงควรมีการบริหารจัดการระบบการแบ่งกระจายน้ำให้ทั่วถึงพื้นที่ท้ายน้ำ
จากการหารือได้กำหนดแนวทางระยะสั้น โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะสนับสนุนเครื่องสูบน้ำแรงดันสูงสูบส่งน้ำจากแม่น้ำปราณบุรีส่งให้อ่างเก็บน้ำห้วยพุไทรเพื่อใช้สำหรับการประปาได้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง กรมทรัพยากรน้ำยินดีสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือส่งกระจายน้ำในพื้นที่ในช่วงฤดูแล้งนี้ และในระยะยาวจะสำรวจศึกษาแนวทางการเพื่อจัดทำโครงการฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในแม่น้ำปราณบุรี กรมชลประทานจะสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อส่งกระจายน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาลงพื้นที่การเกษตรอย่างสม่ำเสมอ และในระยะยาวได้รับไปดำเนินการวางแผนสำรวจศึกษาแนวทางการจัดทำอ่างพวงโยเชื่อมโยงการส่งต่อน้ำจากแต่ละแหล่งเพื่อใช้ในพื้นที่ได้เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม นอกจากนี้ ชาวบ้านและเกษตรกรเองก็จะจัดระเบียบการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดเวลาและพื้นที่รับน้ำเพื่อให้มีการแจกจ่ายกระจายน้ำอย่างทั่วถึงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำเช่นในอดีต
“แม้ว่าในวันนี้หน่วยงานภาครัฐและชุมชนจะร่วมกันวางแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มแข็งแล้ว อย่างไรก็ตามอยากสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่สร้างภูมิคุมกันของตนเอง โดยการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่เพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ใช้ยามวิกฤติ ก็จะเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ปลูกทุเรียนป่าละอูแห่งนี้ได้มากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สทนช. กล่าว