ยอดค้าชายแดน-ผ่านแดน พ.ย.หดตัว 3.01%
• 11 เดือนปีที่แล้ว ยอดการค้ารวม 1.6 ล้านล้านบาท
• ส่งออก 8.9 แสนล้านบาท น้ำมัน-เครื่องดื่ม ยอดพุ่ง
• สปป.ลาวท่องเที่ยวฟื้นนำเข้ารถยนต์คึกคัก
พาณิชย์ เผยยอดการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนพ.ย.86 มีมูลค่าการค้า 148,566 ล้านบาท หดตัว 3.01% แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 74,305 ล้านบาท ติดลบ -16.83% และการนำเข้ามูลค่า 74,261 ล้านบาท บวก 16.34% โดยได้ดุลการค้าทั้งสิ้น 44 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 1,600,241 ล้านบาท ลดลง -2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการส่งออก 899,800 ล้านบาท ลดลง -4.5% และการนำเข้า 700,441 ล้านบาท ลดลง -0.1% โดยได้ดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 199,358 ล้านบาท
สำหรับการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา) เดือนพ.ย.66 มีมูลค่าการค้ารวม 78,833 ล้านบาท แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 48,920 ล้านบาท และการนำเข้ามูลค่า 29,912 ล้านบาท โดยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 19,008 ล้านบาท สินค้าส่งออกชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล 3,502 ล้านบาท น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ 1,636 ล้านบาท และเครื่องดื่มอื่นๆ 1,140 ล้านบาท
ส่วนการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) เดือนพ.ย.66 มีมูลค่ารวม 69,733 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 25,385 ล้านบาท และการนำเข้ามูลค่า 44,348 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกผ่านแดนที่สำคัญ ได้แก่ ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ 5,230 ล้านบาท ยาง T.S.N.R. 3,440 ล้านบาท และไม้แปรรูป 1,778 ล้านบาท
“การค้าชายแดนกับ สปป.ลาว กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 6 เดือน โดยมีมูลค่าการค้ารวม 23,563 ล้านบาท ขยายตัว 3.1% และมูลค่าการส่งออก 14,072 ล้านบาท ขยายตัว 2.1% สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูงในเดือนพ.ย. 2566 ได้แก่ รถยนต์นั่ง 508 ล้านบาท (+21.6%) เนื่องจากมีการเร่งนำเข้ารถยนต์ ในช่วงที่รัฐบาล สปป.ลาว อยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องขอของกลุ่มผู้นำเข้าที่ขอให้เลื่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในกลุ่มสินค้ายานพาหนะที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 ออกไปเป็นช่วงเดือนเม.ย.2567” นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานด้านต่างๆ ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งสอดรับกับ 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ที่มีเป้าในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570
นอกจากนี้ ยังรับทราบรายงานความคืบหน้าประเด็นการค้าชายแดนสำคัญๆ อาทิ การยกระดับจุดผ่อนปรนเป็นจุดผ่านแดนถาวร 3 แห่ง การแก้ไขปัญหาความล่าช้าในกระบวนการนำเข้า-ส่งออก ณ ด่านพรมแดนแม่สอด แห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก การเชื่อมโยงเอกสารส่งออก-นำเข้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) การสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงเส้นทาง R12 (นครพนม-คำม่วน-นำเพ้า) ใน สปป.ลาว และการเชื่อมโยงการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ให้บริการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service: OSS) จากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน/ผ่านแดนแบบครบวงจร สามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธ.ค.66 จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และอุดรธานี